ประวัติบ้านหนองบัวคำ

เล่าขานตำนานดอยเต่า ๑๑ โดย ดร.วิทยา พัฒนเมธาดา

บ้านหนองบัวคำ
บ้านหนองบัวคำ เดิมตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลท่าเดื่อ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านใหญ่ประมาณ 300 กว่าหลังคาเรือน ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง ด้านตะวันตกติดกับ ดอยเกิ้ง ด้านทิศใต้ติดกับดอยเรือ ดอยเรือมีสัญลักษณ์เด่นคือมีเสาหินเหมือนเสาศิลาแลงตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของดอย ตามตำนานเล่าไว้ว่าเสาศิลาแลงนี้ เป็นหลักผูกเรือของพญาโยคีสีสู่ ซึ่งอยู่ทางเมืองใต้ ได้นำเรือขึ้นมาแต่งงานลูก พอดีถึงดอยเรือน้ำปิงเกิดตื้นเขินเรือไปไม่ได้ จึงให้ทหารมัดเรือไว้ตรงนี้เพื่อรอให้น้ำขึ้นจะได้ไปต่อ จึงได้ชื่อว่าดอยเรือ (ปัจจุบันยังอยู่)

หมู่บ้านหนองบัวคำในอดีต

ด้านทิศเหนือติดกับหนองบัวคำที่เรียกว่าหนองบัวคำเพราะว่าเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำใสสะอาด มีดอกบัวสีเหลืองโผล่เต็มหนองน้ำมองดูคล้ายสีทองหรือคำ จึงเรียกว่า หนองบัวคำ น้ำในหนองบัวคำแต่ก่อนใสสะอาดสามารถดื่มกินได้ มีจอก แหน ผักตบชวา หอย ปู ปลาอุดมสมบูรณ์เป็นศูนย์ซูปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของคนในหมู่บ้านก็ว่าได้ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านหนองบัวคำคือ ลุงหนานอุปาลี จันทร์ยะ ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลท่าเดื่อ คนที่่๒ พ่อหลวงสม จันทร์เมือง คนที่๓ พ่อหลวงคำติ๊บ แดงทำ คนที่ ๔ พ่อหลวงสุข จงสว่าง ….

วัดบ้านหนองบัวคำอยู่ติดลำน้ำปิง อยู่ตรงข้ามกับวัดท่าครั่ง เป็นวัดที่มีพระประธานในวิหาร สวยงามมากโดยเฉพาะเศียรและพระพักตร์ สวยงามมากจนแม่ฮือนและสาวสาวที่ไปวัดหลงไหล ถึงกับมวนบุหรี่เป็นมัดไปวางไว้ที่พระบาทของพระพุทธรูป (สาวสมัยก่อนรักใครชอบใครสาวมักจะมวนบุหรี่ฝากไว้ให้ ) สำหรับเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้หลังจากน้ำท่วมแล้วท่านพระครูคำปวน พรหมปัญโญ อดีตเจ้าคณะอำเภอดอยเต่าเจ้าอาวาสวัดพิงค์คาราม บ้านวังหม้อ สมัยนั้น ได้นำลูกศิษย์พายเรือไปตัดเศียรพระมาสวมกับพระประธานของวัดพิงค์คารามและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรแล้ว จะสวยงามขนาดไหนเชิญศาสนิกชนไปกราบไหว้บูชาและดูได้ครับที่วัดพิงค์คาราม บ้านวังหม้อ ต.บ้านแอ่น อ.ดอยเต่า จ. เชียงใหม่

โรงเรียนบ้านหนองบัวคำเดิมอยู่หลังวัดหนองบัวคำด้านทิศเหนือ ครูที่จบจากโรงเรียนบ้านหนองบัวคำและย้ายขึ้นมาหลังน้ำท่วมได้แก่ ๑.พ่อครูเสาร์ เขียวมัง ๒. พ่อครูต่อน ปันจันทร์ ๓.พ่อครูนำ กุณาหย้อง ๔. พ่อครูต่วน เขียวมัง ๕. พ่อครูปริญญา เขียวมัง. ๖. พ่อครูประดิษฐ์ เมธาสุข ต้นมะม่วงคำ หนึ่งเดียวในโลก คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าที่ท้ายหมู่บ้านมีต้นมะม่วงต้นหนึ่งขนาดสองคนโอบ มีลูกเป็นสีเหลืองทอง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่าต้นมะม่วงคำ ต้นมะม่วงต้นนี้มีรอยพระบาทพระพุทธเจ้าตามต้นมะม่วงโดย มีรอยขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและมีรอยลงทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยพุทธกาลองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ณ ที่แห่งนี้ พระองค์ได้ฉันมะม่วงแล้วโยนเมล็ด ทิ้งลงดินมะม่วง เมล็ดนั้นได้งอกงามเจริญเติบโตเพียงต้นเดียวและเป็นที่อัศจรรย์คือไม่สามารถนำเมล็ดไปขยายพันธุ์ได้หรือตอนกิ่งได้ ต่อมามีคนไปตัดโค่นต้นมะม่วงทองคำ แม้จะตัดขาดแล้วต้นมะม่วงก็ยังไม่ล้ม คนตัดต้องทำพิธีขอต้นไม้ถึงจะล้มลง และคนที่ตัดต้นไม้ก็มีอันเป็นไปเช่นกัน. อาชีพของชาวบ้านหนองบัวคำ ในอดีต คืออาชีพทำนา เลี้ยงครั่ง เลี้ยงวัว หาของป่า การทำนาคนหนองบัวคำจะใช้หลุกวิดน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปแปลงนาโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำแต่อย่างใด

ปัจจุบันชาวบ้านหนองบัวคำ มีการย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่ออกไป เนื่องจากระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ถนน ประปา ไม่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต จะเหลือเพียงชาวบ้านที่มีไร่ สวน สัตว์เลี้ยง ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม อยู่ประมาณ 30 ครัวเรือนเท่านั้น

ภาพปัจจุบัน หมู่บ้านหนองบัวคำ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก พ่อครูประดิษฐ์ เมธาสุข ,พ่อจันทร์ตา ยานะ วัดบ้านหนองบัวคำ

ที่ตั้งเดิมหมู่บ้านตามคำบอกเล่า

Share this post

1 Reply to “ประวัติบ้านหนองบัวคำ”

  1. นงลักษณ์ อุดมพันธุ์ พูดว่า:

    เคยสอนที่รร.ดอยเต่าวิทยาคม ตั้งแต่ปี 2520 และได้ย้ายกลับภูมิลำเนา ไปสอยที่ รร.ยุพราชวิทยาลัย ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ดอยเต่า รู้สึกประทับใจทั้งผู้คน นักเรียน ชาวบ้าน ได้พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ทุกวันนี้ เมื่อมีโอกาสจะพยายามไปเยี่ยมดอยเต่า ไปแต่ละครั้งจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของดอยเต่า มีการพัฒนาขึ้นมาก จากที่ใช้ไฟฟ้าปั่นเป็นช่วงเวลา ถนนดินลูกรัง สะพานไม้ ปัจจุบันเป็นอำเภอที่น่าอยู่อาศัย น่าท่องเที่ยว ขอบคุณทุกสิ่ง และสวัสดีดอยเต่าค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top