ประวัติ บ้านโท้ง

บ้านโท้งเดิมชื่อว่า บ้านโท้งปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลท่าเดื่อ กิ่งอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ทิศเหนือติดกับบ้านน้อย ทิศใต้ติดกับบ้านท่าเดื่อ ทิศตะวันออกติดทุ่งนา ทิศตะวันตก ติดลำน้ำปิง บ้านโท้งมีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยว วัดบ้านโท้ง สร้างเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ติดกับลำน้ำปิง โดยมีพระชาว โสติธม.โม พร้อมด้วยศรัทธาบ้านโท้งร่วมกันสร้างขึ้น
ใน ปี พ.ศ. 2507 หลังเกิดน้ำท่วมหมู่บ้าน วัดบ้านโท้งได้อพยพมาพร้อมกับชาวบ้านโดยมีพระคำปัน ปณ.ญาวโร เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น มาสร้างวัดอยู่ในที่ดินจัดสรรของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านในที่ปัจจุบัน บริเวณนี้แต่ก่อนเป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ชาวบ้านจึงมาแผ้วถางทำเป็นพื้นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 งาน  

อาชีพและรายได้ ชาวบ้านโท้งสมัยก่อนมีอาชีพทำไร่ ทำสวน ปลูกข้าว ถั่วลิสง และฝ้าย  
วัฒนธรรม และประเพณีของบ้านโท้งสมัยก่อนที่ทำสืบต่อกันมา คือ
1.การเลี้ยงเจ้าพ่อบ้านของหมู่บ้าน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเก้าของทุกปี โดยในงานจะมีการจัดเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน และไก่ไว้สำหรับเลี้ยง โดยจะเลี้ยงไก่ 3 ปี ในปีที่ 4 จะเลี้ยงหมู และเวียนกันไปแบบนี้ตลอด
2.การเลี้ยงผีบ้านผีเรือน หรือผีปู่ย่า จะทำหลังจากการเลี้ยงเจ้าพ่อบ้านของหมู่บ้าน เสร็จแล้ว จะกลับมาทำพิธีที่บ้านของตนเอง
3.การเลี้ยงผี จะทำเมื่อมีการทำผิดผี คือ การที่ผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นอะไรกัน มีการถูกเนื้อต้องตัวกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการจ่ายค่าสินไหมกันในปัจจุบัน แต่สมัยก่อนจะต้องมีการแก้ด้วยการเลี้ยงผีขอโทษ โดยนำหัวหมู เหล้า ดอกไม้ ธูป เทียน หรือของต่าง ๆ มาเซ่นไหว้

การแต่งงาน สมัยก่อนเมื่อชาย – หญิงแต่งงานกันแล้ว ผู้ชายจะต้องเป็นฝ่ายมาอยู่บ้านผู้หญิง แต่ในสมัยนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละครอบครัว
การเกิด (การคลอดลูก) ในสมัยก่อนผู้หญิงจะคลอดลูกที่บ้านโดยมีแม่ว่าง (หมอตำแย) เป็นผู้ทำคลอด โดยใช้ไม้ฮวก (ไม้ไผ่) ในการตัดสายสะดือเด็ก เมื่อคลอดลูกได้ประมาณ 10 วันหรือครึ่งเดือนถ้าเด็กร้องไห้มากเกินไป จะต้องถามเมื่อ (หมดดูในปัจจุบัน) ว่าเป็นใครมาเกิดและทำพิธีเพื่อไม่ให้เด็กร้อง ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้วจำเป็นต้องมีการอยู่เดือนให้ครบ 30 วัน ในช่วงนี้จะต้องทานได้แต่ข้าวจี่(ข้าวเหนียวปิ้งไฟ) พออยู่เดือนได้ครึ่งเดือนให้ทานพริกดำป่นและเกลือกับข้าวเหนียว นอกจากนี้จะต้องดื่มแต่น้ำร้อนที่ต้มกับแก่นฝางหรือไม้ฝ้ายตลอด ไม่ให้ดื่มน้ำเย็น โดยเชื่อว่าเป็นการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เมื่อออกเดือนแล้วจะต้องทำการอยู่เส้าเป็นเวลา 5 วัน (การอยู่เส้าคือ การขุดหลุมลึก 1 ศอก กว้าง 1 ศอกล้อมรอบบริเวณนั้นด้วยเชือกเป็นรูปวงกลม แล้วเผาก้อนหินให้ร้อนใส่
ไว้ในหลุมเสร็จแล้วให้ตำใบปูเลยผสมกับน้ำรดลงไปบนก้อนหินร้อน ๆ แล้วให้ผู้หญิงนั่งรมควันอยู่ในเส้าเพื่อให้เหงื่อออก โดยมีความเชื่อว่าเป็นการทำให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น
การรักษาโรค ของชาวบ้านในสมัยก่อน คือ การรักษาแผนโบราณ ได้แก่ การต้มรากใบไม้ต่าง ๆ รักษาตามอาการ เช่น ท้องเสียให้ดื่มน้ำต้มยอดไม้แพ่ง ยอดใบฝรั่ง หรือยอดใบทับทิม อาเจียนและท้องเสีย ให้ดื่มน้ำผักขมต้มที่ใช้ไม้คนข้าวคนมีไข้และปวดหัว ให้ดื่มน้ำที่แช่หญ้าเมืองวาย(สาบเสือ) และรากผักขม เชื่อกันว่าเป็นยาเย็นจะทำให้หายได้ แต่ต้องใช้เวลาในการรักษา


การตาย สมัยก่อนจะจัดงานศพไว้ที่บ้าน 3-5 วันขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัวศพจะถูกวางแล้วทำแตะเป็นรูปแมวมาครอบศพไว้ เพื่อเป็นการกันอุดจาดตาไม่ให้เห็นศพจะไม่มีพิธีสวดศพของพระสงฆ์ แต่เมื่อนำไปฝังหรือเผาแล้วจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีให้แก่คนตาย

ข้อมูลจาก พ่อหนานเป็ง ปันตาติ๊บ
หมู่ 2 ต.บงตัน อ.ดอย เต่า จ.เชียงใหม่

Share this post

scroll to top