ประวัติหมู่บ้าน บ้านท่าครั่ง

บ้านท่าครั่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ต. ท่าเดื่อ อ. ฮอด จ.เชียงใหม่ ทิศเหนือติดลำห้วยแม่ตาล ทิศใต้ติดกับบ้านชั่ง ทิศตะวันออกติดตำบลท่าเดื่อ ทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิง ก่อนน้ำท่วม มีประชากรประมาณ ๕๕๐ คน ๑๓๐ ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ เลี้ยงครั่ง ทำนา ยาสูบ ปลูกผักกาด ปลูกหอม กระเทียม ไว้กินและไว้ขาย สัตว์เลี้ยงชาวบ้านจะนิยมเลี้ยงควายไว้ใช้งาน อุตสาหกรรมครัวเรือนที่สำคัญคือการทอผ้า (ผ้าซิ่นตีนจกลายน้ำท่วมในปัจจุบัน)ในครัวเรือน ส่วนโรงเรียนบ้านชั่งเปิดสอนชั้น ป.1-6 อยู่ติดกับวัดบ้านชั่ง วัดบ้านชั่งชื่อเดิมคือวัดอีก้อมในฤดูน้ำหลากวัดอีก้อมได้ถูกน้ำปิงเปลี่ยนทิศทางเจาะเซาะผ่าตรงกลางวัด พัดพาวัดหายไปกับสายน้ำ

ชาวบ้านจึงย้ายวัดขึ้นไปตั้งใหม่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออกมีเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ เรียกชื่อวัดใหม่ว่า วัดท่าครั่ง โดยมี ครูบาปัญญา เป็นผู้นำสร้าง และประกาศตั้งวัดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐ บ้านท่าครั่งมีท่าเรือเป็นสถานที่ซื้อขายครั่งของพ่อค้าเพื่อส่งสินค้าไปขายต่อในภาคกลาง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ น้ำจากเขื่อนภูมิพลเอ่อท่วมวัด ชาวบ้านจึงได้พากันอพยพไปอยู่ในที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดสรรให้ โดยศรัทธาได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปและของวัตถุโบราณต่าง ๆ ๓ วัด คือวัดบ้านชั่ง วัดท่าครั่ง และวัดหนองบัวคำ ไปรวมกันไว้

ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ศรัทธาวัดท่าครั่ง ตกลงกันมาสร้างวัดใหม่ที่บ้านโปงทุ่ง หมู่ที่ ๕ ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ หนังสือที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓๒ มีที่ดิน ๖ ไร่ ๑ งาน ๕๐ วา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๗๑ วา จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้ประมาณ ๗๒ วา จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันตกประมาณ ๕๓ วา จดที่ของนายติ๊บ ปัญญามี และนายจันทร์ติ๊บ วันตา ทิศตะวันออกจดทางสาธารณะประโยชน์ จึงได้นำพระพุทธรูปและของวัตถุโบราณมา ไว้ ที่วัดท่าครั่งจนถึงปัจจุบัน … ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากพ่อจันทร์ตา ยานะ
“บทความตำนานดอยเต่าที่ผมรวบรวมขึ้นมาเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับทราบว่า บรรพบุรุษของคนดอยเต่าในอดีต เป็นผู้ที่มีน้ำใจงดงามยอมเสียสละพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ อพยพมาอยู่ในพื้นที่อันแห้งแล้งบนดอยสูง แต่! เราชาวดอยเต่าก็ยินดีและภูมิใจแม้จะไม่ได้รับการดูแล เท่าที่ควรก็ตาม”

ภาพ/เรื่องโดย : Witthaya Putthanamaetada

Share this post

scroll to top