บ้านงิ้วเฒ่า เล่าขานดอยเต่า

บ้านงิ้วเฒ่า หมู่บ้านเดิมอยู่ตรงข้ามกับหน่วยอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ปิง (ปัจจุบันคือบ้านแปลง4) ผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์ พ่อครูยง อินทรจักร บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 3 ต. มืดกา อ. ดอยเต่า จ. เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ซึ่งพ่อครูเป็น คนเก่าคนแก่ของบ้านงิ้วเฒ่า พ่อครูเล่าว่าบรรพบุรุษของคนหมู่บ้านงิ้วเฒ่านี่ อพยพโยกย้ายมาจากบ้านเด่นคาเดิม ปัจจุบันบ้านเด่นคาเดิมได้เปลี่ยนสภาพเป็นสวนลำไยไปแล้ว

แผนที่หมู่บ้านดอยเต่าก่อนการสร้างเขื่อน

สาเหตุที่คนบ้านงิ้วเฒ่าอพยพมาจากบ้านเด่นคานั้น สันนิษฐานจาก 1.บ้านเด่นคาเดิมมีต้นมะพร้าวเก่าแก่สูงมาก เป็นของพ่อเฒ่าแม่หม่อนบ้านงิ้วเฒ่าลูกหลานเหลนของคนบ้านงิ้วเฒ่าสามารถไปเก็บเอาผลมะพร้าวมากินได้ 2. หาอาชีพใหม่ เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว เพราะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงสามารถจับปลาขายได้ ในช่วงเดือน 3 – 5 เหนือ จะมีปลาสร้อยและปลา อื่น ๆ อพยพขึ้นมาตามลำน้ำแม่ปิง เพื่อวางไข่ และชาวบ้านจะทำการจับปลาไว้เป็นอาหารและไว้ขาย 3.การคมนาคมสะดวก แม่น้ำปิงในขณะนั้นเป็นเส้นทางการคมนาคม โดยพ่อค้าจะนำสินค้าจากทางเหนือคือตัวเมืองเชียงใหม่ ลำพูน จอมทอง ฮอด ล่องไปขายทางใต้ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ พอขากลับพ่อค้าจะบรรทุกสินค้าใหม่ ๆ ใส่เรือจากปากน้ำโพ ขึ้นมาขายตามลำน้ำปิงซึ่งสามารถซื้อและขายสินค้าได้สะดวก

อาชีพของคนบ้านงิ้วเฒ่า ฤดูฝน จะทำนา ทำไร่ เลี้ยงครั่ง หาของป่า ฤดูแล้งจะ หาปลาทำปลาแห้ง ปลาร้า เพื่อนำไปขายและนำไปแลกกับหอม พริกแห้ง ตามบ้านดอยเต่าเก่า บ้านเด่นคา บ้านไร่ บ้านโปง คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ ทำเครื่องจักสาน ส่วนผู้หญิงทอผ้าเพื่อไว้นุ่งห่ม ส่วนประเพณีและวัฒนธรรมของคนบ้านงิ้วเฒ่า วันขึ้นปีใหม่ จะช่วยกันขนทรายเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ฟังพระเทศน์ สรงน้ำพระธาตุ พระพุทธรูป อาบน้ำดำหัวพระสงฆ์ คนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ถึงเดือนเก้า จะมีการเลี้ยงถวายอารักษ์บ้านเจนเมือง (พ่อหม่อน) งานประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีทานข้าวสลากภัตต์ ประเพณีออกพรรษา ประเพณียี่เป็ง ฟังเทศน์มหาชาติ ประเพณีสี่เป็ง นี่คือตำนานบ้านงิ้วเฒ่าครับ …..

วัดฉิมพลีวุฒาราม 
วัดฉิมพลีวุฒาราม เดิมชื่อ “วัดศรีดอนคำบ้านงิ้วเฒ่า” ตั้งอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก หมู่ที่ 3 ตำบลมืดกา อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาจินาและชาวบ้านในสมัยนั้นได้พร้อมใจกันสร้าง เมื่อ ปี พ.ศ. 2333 สาเหตุที่ได้ชื่อว่า วัดฉิมพลีวุฒาราม หรือหมู่บ้านงิ้วเฒ่านั้น เรื่องมีอยู่ว่า บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนั้นมีต้นงิ้วดอกแดง (งิ้วหลวง ) ลำต้นสูงใหญ่มากหลายคนโอบ รอบๆมีต้นงิ้วหลาย ๆ ต้น อยู่ด้านล่างของวัด เมื่อไปตั้งเป็นหมู่บ้านคนทั่วไปจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านงิ้วเฒ่า” 
ปี พ.ศ. 2485 ในสมัยพระธรรมรังษี (พ่อหนานธรรม พิงค์เจริญ อายุ 90 ปี ) เป็นเจ้าอาวาสวัดงิ้วเฒ่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ เป็นภาษาบาลี คำว่า งิ้ว ในภาษาบาลีคือ ฉิมพลี คำว่า เฒ่า ในภาษาบาลีคือ วุฒา บวกกับ อาราม จึงเป็น “วัดฉิมพลีวุฒาราม “ จนถึงปัจจุบัน พ่อหนานธรรม พิงค์เจริญ เล่าว่า วัดฉิมพลีวุฒาราม มีวิหารหลวงที่สวยงามมาก วิหารหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2344 นับจนถึงปัจจุบันมีอายุได้ 200 กว่าปี 
เมื่อปี พ.ศ. 2507 น้ำเขื่อนภูมิพลขึ้นมาท่วมบ้านและวัด ทางเจ้าคณะอำเภอฮอด ได้นำเอาเสาวิหารของวัดงิ้วเฒ่าทั้งหมด ไปสร้างวิหารที่วัดเมืองมาง ในจังหวัดเชียงใหม่ (ลูกหลานชาวดอยเต่าท่านใดมีโอกาสเข้าในตัวเมืองเชียงใหม่เชิญแวะไปชมเสาวิหารของเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองดอยเต่ามา สองร้อยกว่าปีได้) ส่วนพระประธานในวิหารวัดฉิมพลีวุฒารามนั้น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปกรมาขุดเจาะเอาของมีค่าในพระพุทธรูปไปหมด(ผู้เขียนไม่สามารถทราบได้ว่าตอนนี้ของมีค่านั้นคืออะไรอยู่กับใครที่ไหน) ส่วนคณะศรัทธาวัดฉิมพลีวุฒาราม ได้เพียงพระพุทธรูปเก่าแก่ทั้งไม้และทองเหลือง มาเก็บรักษาไว้ที่วัดฉิมพลีวุฒาราม บ้านแปลง 4 ปัจจุบัน…


อยากให้ตำนานดอยเต่าสืบทอดสู่ลูกหลานช่วยกันแชร์ ครับ

ประวัติบ้านแปลง4

ภาพ/เรื่อง : Witthaya Putthanamaetada

Share this post

scroll to top