อำเภอดอยเต่าในอดีต

อำเภอดอยเต่าในอดีต

บทความต่อไปนี้  เป็นบทความที่คัดลอกมาจากเวฟไซต์ของ  ผอ. วิทยา   พัฒนเมธาดา  ซึ่งท่านได้กล่าวถึงดอยเต่าในอดีต  ประวัติความเป็นมาของคนดอยเต่า  ว่า คนดอยเต่า ได้สันนิษฐานว่า  คนดอยเต่าเองเป็นคนที่สืบเชื้อสายมาจากเผ่าลัวะ  ตะโข่ และ คะฉิ่น  จากคำกล่าวของท่านทำให้ผมเอง ซึ่งเป็นคนดอยเต่าโดยกำเนิดต้องทำเวฟไซต์นี้ขึ้นมา  เพื่อหาข้ออ้างอิง  ให้ท่านได้ศึกษาว่า  คนดอยเต่าเป็นชนเผ่าลัวะ ตะโข่ และคะฉิ่น ตามที่ท่านกล่าวไว้หรือไม่

ดอยเต่าเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชาวถิ่นมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน ดังปรากฏหลักฐานในตำนานที่กล่าวไว้ เช่น ในตำนานสิงหนวัต อันเป็นตำนานเก่าแก่ของล้านนา มีอายุมากกว่าพันห้าร้อยปี ได้กล่าวถึงดอยเต่าว่าในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ณ ที่แห่งนี้และเป็นที่มาแห่งพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของคนดอยเต่าและใกล้เคียงอยู่ทุกวันนี้    หรืออีกตำนานหนึ่งคือ   ตำนานพระธาตุหลวงลำพูนที่ได้กล่าวถึงดอยเต่า  โดยได้บันทึกไว้ว่า เมื่อพระนางจามเทวีโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่ดอยเกิ้ง  เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน  พระบรมสาริกธาตุส่วนพระนลาฏ  ซึ่งพระสุวรรณอรหันต์ พุทธสาวกในครั้งนั้นถวาย  พระนางได้จัดขบวนเสด็จอันประกอบด้วย  ข้าราชบริพารเครื่องไทยทาน  ซึ่งจัดตกแต่งเป็นองค์ประสาทเป็นจำนวนมาก  เดินทางด้วยเรือแพตามลำน้ำปิง ได้มาถึงบริเวณหนึ่ง ซึ่งเป็นทุ่งกว้างมีลำน้ำคดเคี้ยว เมื่อริ้วขบวนเครื่องไทยทานผ่าน ทำให้มองดูริ้วขบวนและลานตาเต็มท้องทุ่งไปหมด จึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า บ้านทุ่งผาสาด ซึ่งก็คือ ทุ่งปราสาท และได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านโท้ง มาตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วนคนดอยเต่าเองเชื่อว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าลัวะ ตะโข่ และคะฉิ่น ซึ่งเป็นชาวถิ่นโบราณที่มีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งมีประวัติและประเพณีของชาวเขาเผ่าลัวะพอสังเขปว่า เมื่อประมาณ 1,300 ปี มาแล้ว ก่อนที่พวกมอญจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เขตลุ่มน้ำแม่ปิง บรรพบุรุษของพวกละว้า ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว  ละว้าหรือคนไทยภาคเหนือเรียกว่า “ลัวะ” นั้น เป็นกลุ่มออสโตรนีเซียน และเรียกตัวเองว่าละเวียะ  ถิ่นกำเนิดของลัวะที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าพวกลัวะอพยพมาจากทางใต้ของประเทศไทย มลายา หรือเขมร เมื่อประมาณ 2,000 ปี มาแล้ว บางคนเชื่อว่าพวกลัวะ เป็นเชื้อสายเดียวกับพวกว้าที่อยู่ทางภาคเหนือของพม่าและตอนใต้ของมณฑลยูนนานประเทศจีน เพราะมีความคล้ายคลึงกันทางด้านภาษา ลักษณะทางร่างกายและการแต่งกายการตั้งถิ่นฐาน หมู่บ้านลัวะปัจจุบันส่วนมากยังอยู่ในเขตภูเขา หมู่บ้านประกอบด้วยครัวเรือนประมาณ ๒๐-๑๐๐ หลังคาเรือน โดยสร้างบ้านเรียงรายอยู่ตามแนว สันเขา ลักษณะบ้านนกพื้นสูงคล้ายบ้านกะเหรี่ยง แต่ลักษณะหลังคาจะมีกาแลเป็นสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว หลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง จะสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดินรอบๆหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และระหว่างพื้นที่ทำไร่กับ หมู่บ้านจะมีแนวป่าที่เป็นป่าแก่ ( Virgin Forest) สงวนไว้สำหรับเป็นแนวกันไฟเวลาเผาไร่ของหมู่บ้าน  ลักษณะทางสังคม  ลัวะมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชายหรือบ้านที่ฝ่ายชายปลูกใหม่  โดยถือบรรพบุรุษฝ่ายพ่อ บุตรที่เกิดมาอยู่ในสายเครือญาติของฝ่ายพ่อ ในครัวเรือนหนึ่งๆ โดยทั่วไปประกอบด้วยสามี ภรรยา บุตร บุตรชาย คนโตต้องไปสร้างบ้านใหม่หลังแต่งงาน บุตรชายคนสุดท้ายจะเป็นผู้ได้รับมรดกและเลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดชีวิต งานประจำในครัวเรือนจะแบ่งออกตามอายุและเพศ กล่าวคือ ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบ หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาการ ทอผ้า ผู้ชายมีหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องบ้าน ทำรั้ว ไถนา และล่าสัตว์ ส่วนงานในไร่เป็นหน้าที่ของทั้งสองต้องช่วยกันทำ รวมทั้งสมาชิกวัยแรงงานทุกคนในครอบครัว งานด้านพิธีกรรมถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายเกือบทั้งหมดการปกครอง ผู้นำในการปกครองของลัวะมี ๒ ลักษณะ คือผู้นำทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และผู้นำตามธรรมชาติ เป็นบุคคลที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษปฏิบัติงานด้วยความเสียสละเพื่อ สังคมของเขา บุคคลเหล่านี้ เช่น ผู้นำประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงผี (ต๊ะผี หรือตะปิ) หัวหน้ากลุ่มตระกูลที่มีเชื้อสายของขุนหลวงวิลังก๊ะ (สะมังระ) ผู้นำทางศาสนาของแต่ละกลุ่ม (ลำ) หัวหน้าของคนหนุ่ม(กวนเปรียระ)หัวหน้าของคนสาว (ปะเคระระ) เป็นต้น และในบางหมู่บ้าน ของลัวะที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้นำทางศาสนาคริสต์ก็มี ความสำคัญไม่น้อยในชุมชน  เศรษฐกิจ   ลัวะมีเศรษฐกิจแบบยังชีพขึ้นอยู่กับการทำไร่หมุนเวียนโดยจะปลูกข้าว เจ้าเป็นพืชหลัก ลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว และยังนิยมดื่มเหล้าที่ทำจากข้างเจ้าอีกด้วย พืชอื่นๆที่ปลูกแซมในไร่ข้าวสำหรับไว้เป็นอาหารและใช้สอย ได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว แตง พริก ฝ้าย ผักต่างๆ  ศาสนาและความเชื่อ  เป็นที่เชื่อกันว่า ลัวะนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีมาแต่เดิมเหมือนคนไทย ลัวะมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงในจัดหวัด เชียงใหม่ และเสาอินทขิลคือที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษของพวกตนเมื่อลัวะถูกขับไล่ไป อยู่บนภูเขา ซึ่งไม่มีพระและวัดชีวิตประจำวันจึงขึ้นอยู่กับสภาพทางธรรมชาติมากขึ้น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาก็เริ่มจางลงและหันไปนับถือผีแทน  ลัวะเชื่อเรื่องผี ว่ามีทั้งผีดีและผีเลวสิงสถิตอยู่ตามสิ่งต่างๆเป็นต้นว่าผีที่เฝ้าครอบครัว ผีฟ้า ผีป่า ผีภูเขา ผีเข้าประตูหมู่บ้าน ซึ่งบางครั้งผีอาจจะเป็นสาเหตุก่อความเจ็บป่วยให้แก่คนได้ การติดต่อกับผีจะติดต่อโดยการเซ่นด้วยอาหารที่ผีประเภทนั้นๆชอบโดยมีผู้ทำ พิธีคือ “ ลำ” และ “ สะมัง” หรือคนที่มีคาถาอาคม จะมีการเชิญผีมากินอาการ การฆ่าสัตว์เลี้ยงผีจะจัดส่วนต่างๆ ของสัตว์ให้ผีอย่างละน้อย สัตว์ที่ใช้เซ่น ผีมีไก่ หมู วัว ควาย และ หมา   นอกจากนี้ ลัวะยังเชื่อว่า คนมีวิญญาณ หรือขวัญ ๓๒ ขวัญ หากขวัญใดขวัญหนึ่งออกจากตัวไป จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย ต้องมีการประกอบพิธีกรรมเรียกขวัญให้กลับเข้ามาสู่ร่าง โดยการผูกข้อมือด้วยด้ายสีขาว เชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ขวัญหายและไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ประเพณีผีตาโขนของลัวะ  เป็นประเพณีที่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่สมัย ที่พระพุทธเจ้าได้ปรินิพาน เนื่องจากขณะนั้นคาดกันว่าจะมีมารและปีศาจร้ายทั้งหลาย จะมาทำร้ายพระศพของพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าดังนี้ จึงได้ให้คนแต่งตัวเป็นผีมาเฝ้าศพของพระองค์เอาไว้ เพื่อไม่ให้มารและปีศาจร้ายทั้งหลายเหล่านั้นเห็นว่ามีผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารักษาพระศพของพระพุทธองค์ไว้ จะได้ไม่กล้ามาทำอะไร สำหรับประเพณีผีตาโขนของชาวเขาเผ่าลัวะนี้ ได้จัดกันทุก ๆ ปี คือ จะจัดในเดือนยี่ ขึ้น 1 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เป็นเวลา 15 วัน  พร้อมกันนั้นก็จะถวายตุง เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านจะนำเอาเสาตุงไปตัดทำเป็นลิตรใช้สำหรับตวงข้าวสาร ลัวะมีความเชื่อว่าถ้าหากใช้ลิตรที่ทำด้วยเสาตุง นำมาตวงข้าวสารแล้วจะทำให้ไม่สิ้นเปลือง และจะทำให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์อีกด้วย  นอกจากนั้น ยังป้องกันโรคระบาดของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เป็ด หมู ไก่ วัว ควาย ได้อีกด้วย  ประเพณีผีตาโขนของเผ่าลัวะนี้ได้สืบทอดและรักษากันมาตั้งแต่โบราณกาลเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน และข้อสังเกตจากการมีหมู่บ้านร้างชื่อว่า บ้านห่างจ้างคำตั้งอยู่ไว้บนดอยผาแดงทางทิศตะวันออกของอำเภอดอยเต่า  มีวัดร้างของลัวะอยู่ที่ ตำบลโปงทุ่ง  ผู้คนก็นับถือผีปู่ย่า ส่วนภาษาถิ่นของคนดอยเต่า มีสำเนียงและคำที่แตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นในเชียงใหม่ ยังมีการเรียกขานสถานที่เป็นภาษาถิ่นโบราณ เช่น จะเรียกห้วยหรือลำธารว่า อุ่ม หรือ อม เช่น      อุมป้าด ซึ่งหมายถึง ห้วยที่พาดผ่านเป็นต้น คนดอยเต่าเองมีขนมธรรมเนียมหลายอย่างที่แตกต่างจากถิ่นอื่น เช่น ประเพณีปอยข้าวสังข์ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีการนับถือผีพ่อเฒ่าหนาน  ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญ

เดิมคนดอยเต่า จะอาศัยอยู่เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ กลุ่มลุ่มน้ำแม่หาด ซึ่งจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงริมน้ำแม่หาด ได้แก่ บ้านดอยเต่าเก่า บ้านไร่ โปงทุ่ง อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่ปิง นับเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มแรก กลุ่มนี้ได้แก่ บ้านแม่กา บ้านชั่ง ท่าเดื่อ บ้านน้อย  จนถึงบ้านแอ่น มีหมู่บ้านทั้งเล็กและใหญ่รวมกันถึง 21 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ถึง 54 ตารางกิโลเมตร  อาชีพเดิมได้แก่ การเพาะปลูกข้าว ถั่ว ยาสูบ ครั่ง และค้าขาย โดยนำสินค้าใส่เรือแพล่องไปขายทางตอนล่าง แถบเมืองตาก ปากน้ำโพ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 เมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จเริ่มปิดกั้นน้ำ น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ชาวบ้านต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้ โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลง ๆ เรียกกันว่า บ้านอพยพแปลงที่เท่านั้นเท่านี้ โดยจัดหมวดหมู่ว่า หมู่บ้านแปลง 1, หมู่บ้านแปลง 2  ………..แปลงที่เป็นเลขคี่จะตั้งด้านซ้ายมือของถนนแม่ตืน – ดอยเต่า– ฮอด ส่วนด้านขวาเป็นเลขคู่ ในการอพยพราษฎรจะได้ค่าชดเชยที่ดินเดิมไร่ละ 400 บาท ในขณะนั้น แต่ไม่ได้มีการพูดถึงว่า ส่วนใหญ่จะได้ไม่ครบเพราะเนื่องจากการรับเงินชดเชยจะต้องไปรับที่อำเภอจอมทองซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นลำบาก ทุรกันดารมาก การจ่ายก็เป็นอย่างไม่มีระบบ ราษฎรจึงต้องใช้วิธีให้ผู้อื่นไปรับแทน โดยให้ค่าตอบแทนทำให้ได้รับเพียงไร่ละ 350.-บาทบ้าง 375.- บาทบ้าง บางรายได้น้อยกว่านี้ก็มี

 

ผลกระทบหลังการอพยพ

เพราะเหตุที่เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับคนกว่าครึ่งประเทศและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและประมง การจัดการต่างๆ จึงขาดวิธีการจัดการที่มีแบบแผน ในขณะนั้นรัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งนิคมฯ เขื่อนภูมิพล ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ ได้มีพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2512 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดพื้นที่ ให้กับราษฎรที่อพยพขึ้นมาจากเขตน้ำท่วม เข้าใจว่าด้วยความที่ไม่เคยพบปัญหาบวกกับมีปัจจัยทั้งด้านบุคลากร  อุปกรณ์และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้การจัดพื้นที่การจัดสาธารณูปโภคให้กับผู้อพยพเป็นไปอย่างขลุกขลัก หลายหมู่บ้านไม่มีน้ำกิน น้ำใช้จนหลายหมู่บ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นทีอื่น เช่น บ้านหนองบัวคำเดิม ได้อพยพไปอยู่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในขณะนั้นราษฎรที่อพยพขึ้นมาในสภาพที่เรียกได้ว่า บ้านแตกสาแหรกขาด มองไม่เห็นอนาคต ที่ดินที่รับจัดสรรก็ไม่สามารถจะทำการเพาะปลูกได้ เหตุเพราะสภาพดินขาดความสมบูรณ์ น้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกไม่มี ผนวกกับพื้นที่ที่เป็นที่สูงลุ่มๆ ดอนๆ    ไม่สามารถจะทำคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก รัฐทำได้เพียงนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกกันเป็นครั้งคราว ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของราษฎร ผลที่ตามมาก็คือ ชาวบ้านหันมายึดอาชีพในการตัดไม้แปรรูปขายให้กับพ่อค้าต่างถิ่นเป็นรายได้พอยังชีพ ซึ่งก็ยังเป็นที่น่าเสียดายว่าแต่เดิมในพื้นที่ดอยเต่าจะมีไม้สักเป็นจำนวนมาก เพียงไม่กี่ปีไม้เหล่านั้นได้ถูกตัดจนหมดสิ้น จากการอพยพหนีน้ำในครั้งนั้น ยังผลให้ราษฎรชาวดอยเต่ายังไม่สามารถที่จะยืนหยัดสร้างผลผลิตทางการเกษตร อันเป็นอาชีพดั้งเดิมได้จนตราบเท่าทุกวันนี้  ซึ่งน่าจะสรุปไว้ว่าด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกับอดีต ผสมกับความไม่พร้อมในปัจจัยพื้นฐานคือ น้ำในการเพาะปลูก จึงทำให้คนดอยเต่าเหมือนตกอยู่ในความมืดทางอาชีพ ในปัจจุบันจะพบเห็นบ่อยว่า คนดอยเต่าจะทำการเพาะปลูกพืชผลตามอย่างผู้คนจากถิ่นอื่น โดยขาดความรู้ความสามารถที่แท้จริง จึงยิ่งเหมือนกับเป็นการซ้ำเติมลงไปอีก จนเกิดความท้อแท้ และในที่สุดจึงหันไปจับงานรับจ้าง   จนได้ชื่อว่าดอยเต่ามีแรงงานอพยพมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่  และนั่นคือการสร้างปัญหาใหม่ตามมา   ไม่ว่าจะเป็นการละทิ้งครอบครัวให้อยู่อย่างขาดความอบอุ่น ปัญหายาเสพติดตลอดจนปัญหาของโรคร้ายแรง เช่น เอดส์ เกิดขึ้นและที่นับว่าเป็นปัญหาที่ลึกลงไปอีกก็คือ ราษฎรขาดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพเกษตร ซึ่งเป็นฐานที่แท้จริง คนดอยเต่าจึงขายที่ทำกินที่พอมีอยู่ให้กับนายทุนหรือคนต่างถิ่น อันเป็นการปิดหนทางในการแก้ปัญหาอย่างสิ้นเชิง และไม่ค่อยสนใจต่อการแนะนำหรือเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการประกอบอาชีพการเกษตร เกิดความรู้สึกทางลบแก่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นหลายคนเกิดความท้อแท้ละเลยไป จนมองว่าราษฎรดอยเต่าเกียจคร้านไม่เอาจริงกับการประกอบอาชีพ และในความรู้สึกนึกคิดลึกๆของจิตใจคนดอยเต่ามีความรู้สึกว่ารัฐบาลและข้าราชการทอดทิ้งละเลย หลอกลวง ขาดการดูแลที่ดีพอ ทั้ง ๆ ที่ชาวดอยเต่าได้สละที่ดินเดิมอันอุดมสมบูรณ์ อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อเก็บกักน้ำสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม

 

 

แหล่งที่มา : จากหนังสือและเวปไซต์ ดอยเต่าในอดีต ของ ผอ.วิทยา  พัฒนเมธาดา

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top