ลัวะดอยเต่าหายไปไหน

ลัวะดอยเต่าหายไปไหน

“คนดอยเต่าสันนิษฐานว่าคนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายมาจากคน ๓ เผ่า คือ  ลัวะ  ตะโข่  คะฉิน” เป็นข้อความที่เขียนในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูปัญญาพรหมคุณ (พระครูคำปวน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวังหม้อ  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕  ด้านในหนังสือมีชื่อเรื่องว่า ประวัติเมืองดอยเต่าในอดีต หน้า ๓ เขียนโดย ผอ.วิทยา พัฒนเมธาดา  เป็นข้อกังขาของคนดอยเต่าว่า คนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากเผ่าลัวะจริงๆหรือ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีข้อมูลหลักฐานอะไรมาอ้างอิง จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวทำให้คนดอยเต่ามีความคิดที่แตกต่างกัน บางคนเชื่อว่าจริง  บางคนไม่เชื่อ  บางคนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อได้หรือไม่ ในเมื่อคนดอยเต่าพูดภาษาพื้นเมือง เขียนภาษาด้วยอักษรพื้นเมืองล้านนา พูดภาษาลัวะไม่เป็นเลยสักคำ  และเป็นที่น่าสังเกตที่เห็นได้ชัดเจน คือ  แต่ละหมู่บ้านในอำเภอดอยเต่า  มีสำเนียงการพูดไม่เหมือนกันเลยสักหมู่บ้าน ถึงแม้จะอยู่ห่างกันเพียง ๒ กิโลเมตร สำเนียงการพูดก็แตกต่างกันแล้ว ทุกหมู่บ้านจะมีสำเนียงการพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  การที่จะสืบเชื้อสายมาจาก  ลัวะ   ตะโข่    คะฉิน จึงเป็นเรื่องที่น่ากังขาจริง ๆ  โดยเฉพาะชนเผ่าตะโข่ ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เนตได้เลย  ส่วนเผ่าคะฉินเป็นชนเผ่าหนึ่งอยู่ในรัฐคะฉินประเทศพม่าติดกับประเทศจีน  ไม่มีข้อมูลว่าคนคะฉิ่นเคยอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่แห่งนี้มาก่อนเลย

จากการสอบถามสัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาและร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ลุ่มน้ำแม่หาด  จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ  หมู่บ้านได้ตั้งรกรากไม่ถึงร้อยปี  บางหมู่บ้านไม่เกิน ๖๐ ปีด้วยซ้ำ มีบ้านไร่และบ้านหลวงดอยเต่าเท่านั้น ที่ตั้งอยู่นานกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ    แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงใด ๆ ว่าได้โยกย้ายมาจากไหน ตั้งหมู่บ้านมานานเท่าไร ส่วนบ้านไร่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบ ๆ กันมาว่า  ได้ย้ายมาจาก อ. แม่พริก จ.ลำปาง   ย้ายมาอยู่ทำไร่เพียง ๓ ครอบครัวเท่านั้น คือ แม่เฒ่าฟองแก้ว  แม่เฒ่าเป็ง  แม่เฒ่างา  โดยเฉพาะแม่เฒ่างาจะเห็นได้ชัดเจนว่า สืบเชื้อสายรากเหง้าจนถึงปัจจุบัน ได้เพียง ๔ รุ่นคนเท่านั้น การสร้างหมู่บ้านไร่ น่าจะมีอายุไม่เกิน ๒๐๐ ปี และอาจจะมาอยู่ภายหลังชุมชนบ้านดอยเต่าเล็กน้อย น่าจะไม่เกิน ๕๐ ปี  ช่วงเวลาเมื่อ  ๒๐๐ ถึง  ๒๕๐  ปีที่ผ่านมา(พ.ศ. ๒๓๐๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๕๕)ถ้าเทียบเคียงประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าตากสินมหาราชและรัชกาลที่ ๑ ได้ร่วมกันกอบกู้เอกราชครั้งที่ ๒ จากพม่าและได้ทำศึกสงครามรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ให้เป็นปึกแผ่นตั้งตนเป็นใหญ่ทำการขยายอาณาเขต จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชการที่ ๑ ได้ขยายอาณาเขตครอบครองถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ตลอดจนถึงเขมร ทหารเอกคนสำคัญที่เป็นคนล้านนาคือพระเจ้ากาวีละ ได้ขับไล่พม่าออกจากอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะเมืองลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ จึงทำให้เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เป็นเหมือนเมืองร้างหลังจากคนพม่า ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ พระเจ้ากาวีละได้ยกทัพไปกวาดต้อนคนไต ทั้งไตยอง ไตลื้อ ไตเขิน ไตยวน ไตใหญ่ มาจากสิบสองปันนา  เชียงตุง เชียงรุ้ง และเชียงแสน เข้ามาอยู่แทนที่ เรียกได้ว่าเป็นยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เช่น เมืองลำพูนจะเป็นคนไตยองที่ถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนา เมืองลำปางเชียงใหม่  อุตรดิตถ์  เมืองราชบุรี  สระบุรี บางพื้นที่จะเป็นคนไตโยน หรือไตยวนมาอยู่ เป็นต้น

สิ่งที่น่าสังเกตจากการสอบถามสัมภาษณ์อรยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดมักจะมีการกล่าวถึงชนกลุ่มลัวะเท่านั้น  เช่น  บ่อถลุงเหล็กของลัวะ วัดลัวะ  โป่งลัวะ  มะม่วงลัวะ  ถ้ำลัวะ   หนองย่าลัวะ  บ้านลัวะห่างจ๊างคำ  สถานที่หรือสิ่งต่าง ๆ  ที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นการเรียกขานของคนดอยเต่า คนอำเภอลี้ และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่หาดในปัจจุบัน แสดงว่าคนลุ่มน้ำแม่หาดปัจจุบันน่าจะไม่ใช่ ลัวะ ปัญหามีอยู่ว่า ลัวะที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนี้หายไปไหน จะถูกไล่ฆ่าไล่ฟันพร้อมกับคนพม่าหรือไม่ ลัวะต้องหนีไปซ่อนตัวในถ้ำในป่าบางกลุ่มอาจอยู่รอด บางกลุ่มอาจถูกฆ่าตายหมดทั้งกลุ่ม

คงเป็นไปไม่ได้ว่า ลัวะจะเปลี่ยนแปลงทั้งภาษาพูด  จารีต  ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดถึงความเชื่อต่าง ๆ  จนกลายเป็นคนดอยเต่าซึ่งเป็นคนพื้นเมืองในปัจจุบัน เพราะในช่วงเวลาเมื่อ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา การสื่อสารยังไม่เจริญ วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ไม่มี คนสมัยนั้นไม่ได้เข้าเรียนหนังสือร่วมกันเหมือนคนในสมัยนี้  จึงเป็นไปไม่ได้ว่า ลัวะจะถูกกลืนเอกลักษณ์ชาติพันธ์จนกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบัน

เป็นไปได้ไหมว่า ลัวะจะถูกไล่ล่าถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลงเหลือไว้แต่จิตวิญญาณที่คอยทำเสียงฆ้องเสียงกลองหลอกหลอนชาวบ้านในวันศีลวันพระตามที่ชาวบ้านเล่าขาน ส่วนลัวะที่หนีตายไปได้ก็ต้องคอยหลบๆซ่อนๆอยู่ในถ้ำ ตามป่าเขา ทิ้งให้บริเวณลุ่มน้ำแม่หาด  เป็นบ้านร้างเมืองร้างกลายเป็นดงไม้สักขึ้นหนาทึบมีแต่เศษซากปรักหักพังวัดวาอารามอารยธรรมเก่าแก่ไว้ หลังจากนั้นคนดอยเต่าลุ่มน้ำแม่หาดยุคปัจจุบันจึงย้ายเข้ามาอยู่แทนที่ของชนเผ่าลัวะ จึงเรียกสิ่งของเครื่องใช้ สถานที่ต่าง รวมถึงวัดร้างต่าง ๆ ว่าเป็นของลัวะ

ใช่ว่าจะมีแต่ลุ่มน้ำแม่หาดเท่านั้นที่มีร่องรอยอารยธรรมของลัวะให้เห็น  บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำปิงก็มีเช่นเดียวกัน  หมู่บ้านเก่า ๆ ก่อนถูกน้ำเขื่อนภูมิพลท่วม เช่น บ้านท่าครั่ง บ้านชั่ง บ้านมืดกา บ้านงิ้วเฒ่า จะพบซากปรักหักพังวัดวาอารามเก่าแก่เป็นจำนวนมาก  เช่น  วัดแยงเงา วัดกาด  วัดสำโฮง  ฯลฯ  วัดเก่าแก่เหล่านี้ คนดอยเต่าลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำแม่หาดต่างเชื่อว่าเป็นของชนเผ่าลัวะ ไม่มีใครกล้าไปแตะต้องรบกวนเช่นกัน แต่ละหมู่บ้านจะสร้างวัดขึ้นใหม่ จะมีวัดหลวงดอยเต่า วัดบ้านไร่  วัดม่อนจอมธรรมบ้านสันป่าดำ และวัดบ้านโปงเท่านั้นที่สร้างวัดใหม่ทับที่เดิมของวัดเก่าของลัวะ  ส่วนหมู่บ้านอื่นจะทิ้งวัดเก่าให้เป็นวัดร้าง เพราะเชื่อว่าไม่ใช่ของบรรพบุรุษ จึงไม่มีความรู้สึกหวงแหนที่จะทำนุบำรุงวัดเก่าให้ดียิ่งขึ้น มีแต่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ ถ้าคนดอยเต่ามีความเชื่อว่าเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ วัดซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของปู่ย่าตาทวดก็คงไม่ทิ้งไว้เป็นวัดร้าง คงจะช่วยกันบูรณะซ่อมแซมให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ต้องสร้างวัดใหม่ แม้แต่บ้านหลวงดอยเต่า วัดบ้านโปง วัดบ้านสันต้นเปาก็ยังเชื่อว่า  ได้สร้างวัดใหม่ทับที่วัดเก่าของลัวะ ไม่ใช่วัดที่บรรพบุรุษตนเองสร้างไว้

จากการศึกษาประวัติซึ่งเป็นอักษรเมืองใบลาน จำนวน  ๖  แผ่นหน้าหลัง  ของพ่อหน้อยอินตา  คำปาต๋า  บ้านป่าขามเหนือ  แปลและเรียบเรียงโดย นายสุภชัย  ใจชุ่มอก  บันทึกลงในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานทำบุญฉลองอุโบสถ ตัดหวายลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา เมื่อปี ๒๕๔๙  ได้ความว่า

เวลานั้นคนลัวะ ๒  กลุ่มได้ถูกไล่ล่าโดยสุทโท ลัวะกลุ่มบ้านตาลหลวงนำโดยหมื่นผละได้พาลูกบ้าน บริวารหนีข้าศึกจากบ้านตาลหลวง  ไปอยู่ตะเมาะ  หนีจากตะเมาะ ไปอยู่บ้านบ่อหลวง   ลัวะอีกกลุ่มนำโดยหมื่นยศมีลูกบ้านบริวารอยู่ที่บ้านใหม่ ผู้เขียนเข้าใจว่า  น่าจะเป็นบ้านตาลปัจจุบัน  ถูกสุทโทไล่จับได้หนีไปถึงดอยตั๊บ สุดท้ายได้จับหมื่นยศที่ดอยตั๊บ คงเหลือแต่หลานของหมื่นยศ ๑ หลัง และไพร่ ๖  หลังรวมทั้งหมด  ๗ หลังคาเรือนที่หลบ ๆ  ซ่อน ๆอยู่บนดอย  ในที่สุดก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้ลงจากดอยมาอยู่ที่โต้งบดสถ  เก๊ามะเดื่อย่าเป็ง

จากหลักฐานชิ้นนี้ทำให้บ้านตาลเชื่อว่า รากเหง้าของคนบ้านตาลคือ ลัวะจาวตาลหรือลัวะบ้านตาล  ถ้าหากวิเคราะห์ให้ดี  ถ้าลัวะย้ายจากดอยตั๊บมาอยู่ที่โต้งบดสถเก๊ามะเดื่อย่าเป็ง  แสดงว่าย่าเป็งต้องเป็นคนพื้นเมืองอยู่หมู่บ้านใกล้ ๆนั่นมาก่อน   อาจเป็นชุมชนบ้านตาลนั่นแหละที่เป็นคนพื้นเมืองและมีคนชื่อย่าเป็ง   เพราะคำว่า เป็ง  หมายถึงวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ คนพื้นเมืองเรียกว่า  เดือนเป็ง  ยี่เป็ง  ที่สำคัญคนเขียนเรื่องราว  เขียนด้วยตัวหนังสือพื้นเมือง  อักษรล้านนา  คนลัวะไม่มีอักษรเขียน  มีแต่ภาษาพูด  คนเขียนน่าจะเป็นคนพื้นเมือง และเป็นคนบ้านตาล  น่าจะไม่ใช้ลัวะ  การที่คนลัวะมาอาศัยอยู่ด้วยเพียง  ๗  หลังคาเรือน  อาจถูกคนบ้านตาลซึ่งอยู่นั่นก่อนแล้วกลืนภาษาวัฒนธรรมของลัวะให้เลือนหายไป หรือลัวะโต้งบดสถอาจหนีย้ายไปอยู่ที่อื่นก็เป็นไปได้ แต่คงไม่ถึงกับเป็นรากเหง้าของคนบ้านตาลเสียทั้งหมด

จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่บ้านป่าขามเหนือ  ป่าขามใต้ อายุ ๙๐ ปี ถึงอายุ ๑๐๔  ปี  ท่านไม่เชื่อว่าคนบ้านตาลเป็นคนลัวะ  ท่านเชื่อว่าท่านเป็นคนพื้นเมือง  เพราะสมัยเด็ก ๆ  ก็เห็นลัวะนำมีด เคียว หรือเคียงมาแลกเสื้อผ้า และคนบ้านตาลได้ใช้ภาษาเหนือมาตลอด  ท่านคิดคนบ้านตาลเป็นคนไต  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้พอจะทำให้เห็นว่า  ลัวะได้ถูกไล่ล่าจะเป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้  แต่เป็นข้อพิสุทธิ์ได้ว่าลัวะถูกไล่ล่า  และได้หนีเข้าป่าเข้าดอย  จากการบอกเล่าของพ่ออุ้ยกาบ  บอกว่าพวกไตใหญ่ หรือเงี้ยว   ไล่ฆ่าชนเผ่าลัวะ   ในหนังสือใบลานดังกล่าวยังบันทึกไว้ว่า  ลัวะที่มาอยู่โต้งบดสถ ได้นำข้าวของเงินทองไปถวายเจ้าเมืองอังวะ  ประเทศพม่า  ซึ่งเวลานั้นเมืองเชียงใหม่อาจตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรพู่กาม และอาณาจักรอังวะ อยู่นานถึง ๒๑๖ ปี  ลัวะอาจเป็นคนของพม่า หรือเข้ากับทางฝ่ายพม่าไม่เข้ากับคนไต  เลยถูกไตหรือเงี้ยวไล่ฆ่าไล่ฟันพร้อม ๆ กับพม่าก็เป็นไปได้  คนชื่อสุทโท  อาจจะเป็นคนไตมาตั้งฐานทัพที่เมืองฮอด เพื่อไล่ล่าคนลัวะ คนพม่าก็เป็นไปได้ ป้าพา  เปี้ยพริ้งเล่าว่า  ลัวะบ้านห่างจ้างคำ  (บ้านร้างของลัวะอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านไร่) ก็ถูกไล่ฆ่าไล่ฟัน และได้พาลูกพาเมียหนีเข้าป่าเข้าดอย บางคนก็ถูกจับได้ถูกนำไปฆ่าที่เมืองฮอด

จากการสืบค้นสัมภาษณ์คนที่หนีน้ำท่วม ทั้งบ้านวังหมอ  บ้านหนองบัวคำ  บ้านท่าเดื่อ บ้านแอ่น  ได้ข้อมูลตรงกันว่า  คนที่มาขุดค้นหาของเก่าของโบราณในบริเวณที่ลัวะเคยอาศัยนั้น  ไม่ใช่คนในอำเภอดอยเต่า  จะเป็นคนมาจากทางใต้  เขาจะขี่เรือขึ้นมาตามลำน้ำปิง  เพื่อจะมาขุดค้นหามรดกเก่าๆ ของชนเผ่าลัวะ  พวกนี้เขาจะมีลายแทง หรือคำบอกเล่าให้ลูกหลานต่อ ๆ กันมา  ว่าสิ่งของมีค่าอยู่ตรงไหน  มีอะไรเป็นสัญลักษณ์  จากคำบอกเล่านี้  พอจะมองเห็นว่า  คนลัวะส่วนหนึ่งเท่านั้นที่หนีขึ้นไปอยู่บ้านบ่อหลวง บ่อสลี  ส่วนมากจะหนีล่องใต้  ตามลำน้ำปิง   พอเวลาผ่านไปนานเป็นสิบ ๆ ปี  จึงกลับมาขุดค้นหาของเก่า  ตามที่ปู่ย่าตายายหรือบรรพบุรุษให้ลายแทงไว้

เป็นที่น่าสังเกตที่คนดอยเต่ามีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกัน  เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมาคนดอยเต่าจะมีสำเนียงการพูดที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด  ในปัจจุบันอาจพอจะมีอยู่บ้างสำหรับคนเฒ่าคนแก่  คนรุ่นหลัง ๆ  อาจจะแยกกันไม่ออกเนื่องจากคนปัจจุบันได้เรียนหนังสือระดับชั้นมัธยมร่วมกัน  การพูดจาอาจมีสำเนียงคล้ายครึงกันจนแยกแยะไม่ออกว่าเป็นสำเนียงบ้านใด  จากการที่คนดอยเต่ามีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกัน  คงมีสาเหตุมาจาก คนดอยเต่าโยกย้ายมาอยู่จากคนละที่คนละแห่ง  ไม่ได้มาจากถิ่นเดียวกัน  หรือพัฒนามาจากชนเผ่าลัวะ เหมือน ๆ กัน  แต่ที่เหมือนกันคือ  ใช้ภาษาพื้นเมืองล้านนา  ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียนเหมือน ๆ กัน  มีประเพณีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนเมืองล้านนาเหมือน ๆ กัน  แตกต่างเพียงแต่สำเนียงการพูดเท่านั้น

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top