อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช

ที่ดอยเต่า เคยสงสัยไหมว่าทำไมจึงมีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช จากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ใช้เส้นทางเดินทัพมาตีเชียงใหม่ครั้งแรกในปี 2313 ด้วยการผ่านขึ้นมาทางลำพูน ไม่ใช่ลำปาง เนื่องจากจุดตัดรอยต่อที่เมืองเถินนั้นเป็นทางสามแพร่ง

แพร่งแรกคือสวรรคโลก อันเป็นเมืองที่พระองค์ทรงยกทัพมาอีกสองทาง ระหว่างลี้ขึ้นลำพูน กับเถิน-เกาะคาขึ้นลำปาง

แน่นอนว่าหากไม่ทรงมีกิจธุระใดสำคัญที่ต้องทำในลำปาง (เช่น ประสงค์จะไปกราบนมัสการพระธาตุลำปางหลวง) ก็ไม่ควรเสียเวลาเลือกเส้นทางหลัง เพราะต้องพบกับความวิบากสาหัสในการพิชิตยอดดอยขุนตานอีกต่อหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงเลือกที่จะขึ้นมาเชียงใหม่ทางทิศตะวันตก คือเมืองลี้

จากนั้นเดินบกอีกนิดหน่อยตัดลงไปหาท่าน้ำทางแก่งก้อ เมื่อพบแม่น้ำปิงจึงได้เดินทัพโดยทางเรืออีกครั้ง

เนื่องจากเอกสารพงศาวดารต่างๆ ในส่วนนี้ กล่าวแต่เพียงย่นย่อ ไม่มีการบันทึกเมืองตามเบี้ยบ้ายรายทางว่าทรงพักแรมกี่คืนที่ไหนบ้าง

แต่ที่แน่ๆ พระองค์ต้องทรงผ่านชัยภูมิสำคัญๆ ซึ่งกษัตรีย์ในอดีต คือพระนางจามเทวี ทรงแวะพักแรมมาแล้วเป็นระยะๆ

เช่น บริเวณดอยเกิ้ง (อำเภอดอยเต่า) เวียงฮอด พระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุดอยน้อย (จุลคีรี อำเภอดอยหล่อ) เป็นต้น

จะมีก็แต่ละแวกเวียงป่าซาง ที่มีคนเฒ่าคนแก่หลายคนเล่าให้ดิฉันฟังว่า มีร่องรอยกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จผ่านมาอยู่ 2 จุด

จุดแรกคือ บริเวณริมน้ำแม่ปิง แถวบ้านวังสะแกง

และอีกจุดคือ บริเวณวัดหนองดู่ กับวัดเกาะกลาง (ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง) อันเป็นที่ตั้งชุมชนชาวมอญมาตั้งแต่อดีต

เจ้านวลระหง ณ ลำพูน (สกุลเดิม ปัจจุบันอายุมากกว่า 75 ปี) เคยให้สัมภาษณ์ว่า บริเวณเวียงเกาะกลางคือจุดพักทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพระองค์มีศรัทธาปสาทะต่อวัดนี้อย่างแรงกล้า ถึงกับได้ร่วมฝากผลงานฝีพระหัตถ์ปั้นทวารบาล (ยักษิณี) ปูนปั้นที่มีศิลปะคล้ายจีน เพื่อถวายแด่พระนางจามเทวี (ในฐานะที่เวียงเกาะกลางเป็นสถานที่ประสูติของพระนางจามเทวี ตามความเชื่อของชาวมอญ) ไว้ด้วย 1 คู่

ครั้งหนึ่งทวารบาลคู่นั้นเคยประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณซากโบราณสถานเนินบ้านเศรษฐีอินตา ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดเกาะกลาง ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เวียงเกาะกลาง

เจ้านวลระหงตั้งคำถามว่า เหล่านักโบราณคดีมิเคยเอะใจกันบ้างหรือ ว่าเหตุใดศิลปะทวารบาลปูนปั้นนี้จึงมีรูปแบบคล้ายศิลปะจีน ซึ่งแปลกแยกแตกต่างออกไปจากศิลปกรรมปูนปั้นชิ้นอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

อันที่จริงในสายตาของดิฉันปูนปั้นยักษิณีดังกล่าว สามารถมองได้หลายมิติ

มุมหนึ่งอาจดูคล้ายศิลปะจีนอยู่บ้าง

(แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีอายุเก่าเพียงแค่ 250 ปีเท่านั้นเองหรือ ในเมื่อประติมากรรมชิ้นอื่นๆ ที่พบในสถานที่แห่งเดียวกันมีอายุมากกว่า 500 ปี)

อีกมุมหนึ่งนั้น มีลักษณะละม้ายกับอสูรยุดนาคของขอมสมัยบายนที่ปราสาทหินนครธมซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มากกว่าไหม

ปริศนาเรื่องเศียรยักษิณี คงต้องมีการศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ด้านหน้าวัดหนองดู่ กลางลำน้ำปิง บริเวณใกล้ฝายเก็บน้ำ มีชาวประมงงมเจอปืนใหญ่โปรตุเกสกระบอกหนึ่ง มีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นปืนใหญ่สำหรับขึ้นหลังช้างหรือติดตั้งในเรือ (ดิฉันเคยเขียนถึงปืนใหญ่กระบอกนี้แล้วอย่างละเอียดในเรื่อง “500 ปีความสัมพันธ์สยาม-โปรตุเกสฯ” เมื่อปี 2556)

อนึ่ง ประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนในชุมชนทั้งหมดนี้ ยังไม่มีเอกสารหรือหลักฐานด้านลายลักษณ์มารองรับแต่อย่างใด

แต่ดิฉันก็ยังไม่อยากตัดข้อมูลส่วนนี้ทิ้ง วันข้างหน้าอาจค้นพบหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเติมก็เป็นได้

ผ่านลำพูนด้วยเส้นปิงเก่า

ส่วนในลำพูนนั้น จุดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับ พงศาวดารฝ่ายสยามระบุชัดว่าอยู่ที่พระตำหนักริมน้ำ บริเวณแม่ปิงเก่า (ปัจจุบันคือแม่กวง)

สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ไม่ไกลจากประตูท่านาง และวัดพระธาตุหริภุญชัย คือฟากตะวันตกของแม่น้ำกวง

การเดินทัพจากลำพูนเข้าสู่เชียงใหม่ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีการใช้เส้นทางผ่านท่าวังตาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าทรงเลาะเลียบลำน้ำกวง (ปิงเก่า) เข้าสู่ลำน้ำปิงสายหลัก

ยกพลขึ้นบกที่ประตูท่าแพด้านทิศตะวันออก จากนั้นประทับในเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 9 วัน

พระตำหนักที่ประทับของพระองค์ในครั้งแรกนี้ ไม่อาจทราบได้ว่าควรอยู่ที่ใด เนื่องจากการศึกครั้งนั้นกองทัพฝ่ายสยามยังไม่สามารถพิชิตเชียงใหม่จากพม่าได้

ดังนั้น ที่ประทับจึงไม่ควรเป็น “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” หรือเขตพระราชฐานของเจ้าเมือง เพราะพม่ายังตรึงทัพไว้

การเดินทัพกลับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชพงศาวดารระบุไว้อย่างรวบรัดตัดตอนว่าทรงเสด็จกลับมาประทับที่เมืองระแหง ลงมาเมืองพิชัย และเสด็จทางชลมารคสู่พระนคร โดยไม่ให้รายละเอียดของเส้นทางระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน อีกเช่นเดิม

สันนิษฐานว่าขาล่องนี้ทรงใช้เส้นทางสายเดียวกันกับขาขึ้น คือลงจากลำพูนสู่เวียงป่าซาง เวียงเกาะกลาง เวียงหนองล่อง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า แก่งก้อ ลี้ โดยทางชลมารค

เฉพาะช่วงลี้สู่เถินเท่านั้นที่ต้องเดินทางตัดป่าด้วยสถลมารค จากนั้นลงสู่ปากวัง และเข้าสู่บ้านตาก บ้านระแหง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กับการยกทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2

เหตุการณ์ตรงกับพุทธศักราช 2317 การยกทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นมาตีเชียงใหม่ครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากทรงทราบว่า พม่ามีแผนการจะยกทัพมาตีกรุงธนบุรี

โดยโปมะยุหง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้พญาจ่าบ้าน และพญากาวิละคุมชาวเมืองเชียงใหม่จำนวน 1,000 คน เป็นกองหน้ายกทัพมาก่อน

จากนั้นเป็นทัพของโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) ยกตามมาอีก 9,000 คน จึงได้รู้ว่าพระญาจ่าบ้าน และพระญากาวิละได้ทรยศหักหลังพม่า หันมาสวามิภักดิ์ต่อสยาม

โดยผู้ที่คุมทัพหน้าฝ่ายสยามครั้งนั้นคือ เจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1) ได้รับกองทัพของพระญาจ่าบ้านและพระญากาวิละเข้ามาเป็นแนวร่วม โดยให้ถือน้ำสวามิภักดิ์ และให้คุมพลกลับไปเชียงใหม่อีกรอบ

ทำให้โปสุพลาต้องล่าถอยคืนสู่เชียงใหม่ ในช่วงแรกกองทัพสยามต้องหยั่งเชิงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงเก่า (กวง) ข้างเหนือเมืองลำพูน (น่าจะเป็นสถานที่เดิมกับคราวที่ทัพหลวงเคยตั้งทัพครั้งแรกในลำพูน)

ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคุมทัพหลวงจากเมืองระแหงขึ้นมาทางบ้านตาก ปากวัง เมืองเถิน แต่คราวนี้พระองค์ไม่ได้เข้าสู่เมืองลี้-ลำพูนเหมือนครั้งที่ 1

หากใช้เส้นทางแม่วัง-ลำปาง ขึ้นมายังสบปราบ เกาะคา ห้างฉัตร แม่สัน ครั้งนี้เข้าลำพูนด้วยการอ้อมเขาขุนตานผ่านมาทางแม่ทา และมาตั้งรั้งทัพ ณ บริเวณ “พระตำหนักค่ายมั่นริมน้ำเมืองเชียงใหม่”

จากนั้นได้เข้าโจมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไปทางประตูช้างเผือก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้เข้าไปประทับในพระตำหนักเมืองเชียงใหม่ น่าจะหมายถึงบริเวณข่วงหลวงเวียงแก้ว คือเขตพระราชวังเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระญามังราย

คราวนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประทับที่เชียงใหม่ 7 วัน พงศาวดารระบุว่าพระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร วัดพระสิหิงค์ (หมายถึงพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์) ในวันพุธ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ เพลาเช้า

จากนั้นจึงเสด็จกลับไปลำพูน ทรงแต่งตั้งให้พระญาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระญาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระญาวชิรปราการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระธาตุหริภุญชัย

ขากลับพระองค์คงใช้เส้นทางเดิมคือ ออกจากลำพูนเข้าสู่แม่ทา ในยุคที่ยังไม่มีอุโมงค์รถไฟขุนตาน และถนนซูเปอร์ไฮเวย์ สาย A1 จะเป็นเส้นทางอ้อมคดเคี้ยวขนานภูเขาไปสู่ช่องกิ่วทะลุขุนตาน

จากแม่ทาเข้าสู่แม่สัน ห้างฉัตร บริเวณอำเภอห้างฉัตรเชื่อมต่ออำเภอเกาะคา ซึ่งบริเวณนี้มีวัดสำคัญถึง 3 แห่ง ได้แก่ วัดปงยางคก วัดไหล่หิน และวัดพระธาตุลำปางหลวง

ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ได้มีการแต่งตั้งพระญากาวิละขึ้นเป็นเจ้าเมืองลำปาง และให้มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ ที่นั้น

สรุปครั้งแรกเข้าแม่ปิง ครั้งที่สองขึ้นแม่วัง

เส้นทางเสด็จของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ขึ้นมาตีเชียงใหม่ 2 ครั้งนั้น ได้ใช้เส้นทางต่างกัน ครั้งแรก มาจากพิชัย สวรรคโลก เถิน จากนั้นแยกซ้ายเข้าเมืองลี้ เลาะเลียบลงแม่น้ำปิงขึ้นสู่ลำพูน โดนมีร่องรอยว่าขบวนทัพแวะพักตามจุดต่างๆ 2-3 จุด คือที่ลี้ เวียงหนองล่อง และป่าซาง

ครั้งที่ 2 เดินทางมาจากเมืองระแหง สู่บ้านตาก ปากวัง เถิน สบปราบ เกาะคา ห้างฉัตร แม่สัน แม่ทา ลำพูน เชียงใหม่

ส่วนขากลับนั้น พระองค์เดินทางกลับด้วยเส้นทางเดิมเหมือนกันกับขาขึ้นทั้งสองครั้ง

ครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน หัวหน้าสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย ได้อธิบายว่า เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่ที่อำเภอลี้เล่าว่า บริเวณอุทยานพุทธปางประทีป ตำบลป่าลาน อำเภอลี้นั้นเคยเป็นจุดพักยั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนั้น จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่ลานด้านหน้า

นอกจากนี้แล้ว ครูบาป่านิกร ชยฺยเสโน ยังได้กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านเคยเชื่อกันว่า ถ้ำช้างร้อง อยู่กลางลำน้ำปิง มีพลับพลาที่ประทับหลังหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า “พลับพลาพระเจ้าตาก”

ถ้ำช้างร้องอยู่ไม่ไกลจากสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อย ทำให้ในอดีตครูบาป่านิกรจึงเชื่อว่าสำนักสงฆ์พระบรมธาตุแก่งสร้อยและถ้ำช้างร้องคือเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ไว้ที่แก่งสร้อย

แต่ต่อมาเมื่อครูบาป่านิกรได้มาสำรวจเส้นทางในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงอย่างละเอียด ประกอบกับได้อ่านพงศาวดารฝ่ายสยามหลายเล่ม จึงทราบความจริงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นมาลำพูนครั้งแรก เดินทางมาจากสวรรคโลก (ทะลุอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ในปัจจุบัน) จากนั้นพบรอยต่อระหว่างอำเภอเถินกับอำเภอลี้ ในเอกสารระบุว่าท่านใช้เส้นทางลี้ ประกอบกับชาวบ้านบอกว่าท่านยั้งทัพที่อุทยานพุทธปางประทีป

จึงมีความเป็นไปได้ว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ลงเรือลัดเลาะเลียบลำน้ำปิงขึ้นไปทางเหนือ จากเมืองลี้ สู่เมืองฮอด จอมทอง เวียงหนองล่อง ป่าซาง และลำพูน ประทับที่ลำพูนก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่เชียงใหม่

อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช
อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ดอยเต่า
ที่มามติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียนเพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่วันพฤหัสที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top