คนดอยเต่ามาจากไหน?

naykob_ig0.jpg

๑.๑ คนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากลัวะจริงหรือ?

คนดอยเต่าสันนิษฐานว่าคนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายมาจากคน ๓ เผ่า คือ ลัวะ ตะโข่ คะฉิน” เป็นข้อความที่เขียนในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูปัญญาพรหมคุณ (พระครูคำปวน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวังหม้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้านในหนังสือมีชื่อเรื่องว่า ประวัติเมืองดอยเต่าในอดีต หน้า ๓ เขียนโดย ผอ.วิทยา พัฒนเมธาดาและบนเวปไซต์ของท่าน

        ถือเป็นข้อกังขาของคนดอยเต่าว่า คนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากเผ่าลัวะจริงๆหรือ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีข้อมูลหลักฐานอะไรมาใช้อ้างอิงหรือไม่

        จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวทำให้คนดอยเต่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บางคนเชื่อว่าจริง บางคนไม่เชื่อ บางคนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อหรือไม่ ในเมื่อคนดอยเต่าพูดภาษาพื้นเมือง เขียนภาษาด้วยอักษรพื้นเมืองล้านนา พูดภาษาลัวะไม่เป็นเลยสักคำ  ไม่มีภาษาลัวะหลงเหลือไว้เป็นภาษาถิ่นของคนดอยเต่าเลย  ถึงแม้ว่าคนดอยเต่าจะมีสำเนียงการพูดและภาษาถิ่นที่แตกต่างจากอำเภออื่น ๆ  ก็ตาม

        จากการอ่าน  ดอยเต่าในอดีต ของ  ผอ. วิทยา  จะเห็นว่าประเพณีวัฒนธรรม  คติความเชื่อหลาย ๆ  อย่างของชนเผ่าลัวะจะแตกต่างจากคนดอยเต่าอย่างชัดเจน ใคร่ขอยกเป็นตัวอย่าง   เช่น
๑.   “โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชายหรือบ้านที่ฝ่ายชายปลูกใหม่   โดยถือบรรพบุรุษฝ่ายพ่อ บุตรที่เกิดมาอยู่ในสายเครือญาติของฝ่ายพ่อ”  แต่คนดอยเต่าที่นับถือผีปู่ย่า  จะถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่
๒.”ลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว”  แต่คนดอยเต่านิยมบริโภคข้าวเหนียวมากกว่า จึงมีคำกล่าวเป็นคำคล้องจองว่า  ลัวะเยี๊ยะไฮ่  ไตยเยี๊ยะนา
เนื่องจากการทำไร่ข้าวมักจะปลูกข้าวจ้าว  ส่วนนาของคนดอยเต่าจะปลูกแต่ข้าวเหนียว
๓.”การฆ่าสัตว์เลี้ยงผีลัวะจะจัดส่วนต่างๆ ของสัตว์ให้ผีอย่างละน้อย สัตว์ที่ใช้เซ่นไหว้ผี    มี   ไก่ หมู วัว ควาย และ หมา”  ส่วนคนดอยเต่ามีเพียงไก่และหมูเท่านั้น  ลัวะจะมีการเลี้ยงผีละมังโดยเลี้ยงควายเป็นตัว  และเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ  ซึ่งคนดอยเต่าจะไม่มีการเลี้ยงทั้งผีละมังและผีปู่แสะย่าแสะ  แต่จะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า สัตว์ที่ใช้เลี้ยงอย่างมากก็คือหมูหรือหัวหมูเท่านั้น
            นี่คือตัวอย่างความแตกต่างระหว่างคนดอยเต่ากับคนลัวะ  ที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการแต่งตัว  การสวมใส่เสื้อผ้า  ภาษาพูด  ภาษาเขียน ล้วนเห็นว่าแตกต่างกันมาก ๆ  คนดอยเต่าจึงสงสัยข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า คนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายจากลัวะจริง ๆ หรือ
            ท่าน  ผอ.วิทยาคงจะสันนิษฐานได้จากข้อมูลที่ได้คือ  การนับถือผีของคนดอยเต่า  บางครอบครัว  บางหมู่บ้าน  เช่น  บ้านแอ่น  บ้านวังหม้อ มีการนับถือผีลัวะ  เพราะคนดอยเต่ามีการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่การเลี้ยงผีปู่ย่าของคนดอยเต่าได้แยกพิธีการเลี้ยงได้  ๒  อย่างคือ  เลี้ยงผีปู่ย่าแบบคนไต (คนเมือง) และเลี้ยงผีแบบลัวะ หรือเลี้ยงผีลัวะ  เมื่อ  ผอ. วิทยา ได้ข้อมูลว่าคนดอยเต่าเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นผีลัวะ  จึงสันนิษฐานว่า  คนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายมาจากลัวะ    ลัวะเป็นบรรพบุรุษของคนดอยเต่า     ความจริงการเลี้ยงผีปู่ย่าของคนดอยเต่า  ไม่ได้เลี้ยงผีบรรพบุรุษดั่งเช่นคนไทยเชื้อสายจริง  ซึ่งทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษให้มาดลบันดาลให้มั่งมีศรีสุข  ร่ำรวยเงินทอง  หรือเลี้ยงผีเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณของบรรพบุรุษ  แต่คนดอยเต่าเลี้ยงผีปู่ย่า   เพื่อไม่ให้ผีปู่ย่ามาทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย  การนับถือผีปู่ย่าของคนดอยเต่า เป็นกุศโลบายของคนโบราณเพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลานไม่ให้ออกนอกรีตนอกรอย  เพราะการกระทำบางอย่างที่ไม่ดี  สังคมไม่ยอมรับ  หรือผิดจารีตประเพณีอันดีงาม  จะทำให้ผีปู่ย่าโกรธ  ไม่พอใจ  เช่น  หนุ่มสาวจับมือถือแขนกัน ลักลอบได้เสียกัน หรือพี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกัน    ผีปู่ย่าจะไม่พอใจ  ผีปู่จะทำให้เกิดเพทภัยต่าง ๆ  แก่ครอบครัว เช่น อาจทำให้คนในครอบครัวไม่สบายถึงกับ ล้มหมอนนอนเสื่อ สามวันดีสี่วันไข้  รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ต้องทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า  เพื่อขอขมาลาโทษที่ได้ทำผิดจารีตประเพณี  เมื่อเลี้ยงผีปู่ย่าแล้วอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทุเลาเบาบางลงตามลำดับ  เป็นต้น
        จะเห็นได้ว่า  การเลี้ยงผีปู่ย่า  หรือเลี้ยงผีลัวะของคนดอยเต่า  เป็นพิธีกรรมเพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในสังคมเท่านั้น  ไม่ได้เลี้ยงผีปู่ย่าเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาดั่งเช่นคนจีน  จึงสันนิษฐานไม่ได้ว่าการที่คนดอยเต่าเลี้ยงผีลัวะ  บรรพบุรุษจะเป็นลัวะเสมอไป
        จากการถามคนดอยเต่าที่นับถือผีลัวะ ว่า  พูดภาษาลัวะได้หรือไม่  สืบเชื้อสายมาจากลัวะหรือไม่  คำตอบที่ได้ก็คือว่า  ไม่  เขาเชื่อว่าเขาเป็นคนไต  คนพื้นเมือง  เพียงแต่นับถือผีปู่ย่า มีพิธีกรรมการเลี้ยงผีแบบลัวะเท่านั้น  มีประเพณีที่เหมือนลัวะ  เช่น  การฝังศพ  ไม่นิยมนำศพไปเผา  มีเตาไฟหย่อนนอกเหนือจากนี้ก็เหมือนคนไต  หรือคนดอยเต่าทั่ว ๆ ไป
        หรือว่าท่าน  ผอ. วิทยา  จะสันนิษฐานว่า  การที่คนลัวะดอยเต่าในอดีตจะกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบันโดยใช้เวลาหลายร้อยปี  หลายพันปีมาแล้ว   ที่ได้ค่อย ๆ  พัฒนาการทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบัน
        ยิ่งเป็นข้อสันนิษฐานแบบนี้ยิ่งไม่เห็นด้วย  เป็นไม่ได้อย่างแน่นอน  เพราะย้อนหลังไปเมื่อ ๔๐-๕๐  ปีที่ผ่านมา  ความเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่มชนต่าง ๆ  จะเห็นได้ชัดเจนกว่าเวลานี้มาก  ไม่ว่าภาษาพูด  จารีตประเพณี  คติความเชื่อ  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละเผ่าพันธุ์จะแตกต่างกันมาก  การยึดในตัวตนของแต่ละชนเผ่าจะมีมาก  การแต่งงานข้ามเผ่าจะมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย  ผิดกับปัจจุบันนี้การไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น  การติดต่อสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้น  มีการศึกษาเรียนรู้ด้วยกัน  การที่ชนเผ่าใดเผ่าหนึ่งจะถูกกลืน  หรือมีพัฒนาการให้เท่าเทียมกับชนเผ่าอื่นที่เจริญกว่าย่อมเป็นไปได้สูงมาก  แต่นี่คนดอยเต่ามีประเพณีวัฒนธรรม  มีภาษาพูด  ภาษาเขียนมานานเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว  ย่อมเป็นไม่ได้ว่า   ลัวะจะถูกกลืน  จนลืมภาษาดั้งเดิมของตนเอง  จนกลายเป็นคนดอยเต่าเมื่อร้อย ๆ  ปีที่ผ่านมา  เนื่องจากเวลานั้น ยังไม่มีสื่อวิทยุ  โทรทัศน์  อินเทอร์เน็ต  หนังสือสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ยังไม่มี  การที่คนลัวะจะถูกกลืนจนกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบันย่อมเป็นไปไม่ได้  ยกตัวอย่างคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย  อายุ  ๘๐ ปี  ยังพูดไทยไม่ชัด  ยังคงใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันอยู่  เช่น  เตี่ย  อาหมวย  ลื้อ  อั๊วะ ไอ้ตี๋  เจี๊ยะ    ถ้าคนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากลัวะจริง  น่าจะมีภาษาพื้น ๆ  เช่น  คำว่า   พ่อ  แม่  พี่  น้อง  หลงเหลืออยู่บ้าง  แต่นี่ไม่มีเลย  จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนดอยเต่าจะสืบเชื้อสายมาจากลัวะ

ตำนานดอยเต่า

doitaohistory2.jpg

ผู้คนเคยรู้จัก ดอยเต่ากันแพร่หลายเริ่มมาจากเสียงเพลง  หนุ่มดอยเต่า  ขับร้องโดย นักร้องเด็กนักเรียนคณะนกแล เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เนื้อร้องและทำนองบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของหนุ่มดอยเต่าคนหนึ่งที่บรรยายถึงความยากลำบากในการดำเนินชีวิตที่มีถิ่นอาศัยในดินแดนทุรกันดาร ต้องเดินทางไปทำงานหาเงินในต่างแดน  แล้วยังส่งสารไปยังผู้คนทั้งหลายว่า  ปัจจุบันนี้ดอยเต่าได้รับการพัฒนาตามโลกสมัยยุคโลกาภิวัฒน์    เรามาติดตามดูเรื่องราวของดอยเต่าต่อไป

“ดอยเต่า” คำนามซึ่งเป็นที่มาของชื่ออำเภอในปัจจุบันนี้ มีตำนานและคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกเทศนาสั่งสอนเผยแผ่พระธรรมไปตามท้องที่ต่าง ๆ จนได้เสด็จมาถึงดินแดนแห่งนี้ (ท้องที่อำเภอดอยเต่า )    และประทับแรมสั่งสอนประชาชน  ณ  สถานที่ที่เป็นเนินเล็ก ๆ  ภายใต้ร่มไม้ใหญ่อากาศเย็นสบาย  ซึ่งไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากนัก เมื่อประชากรทราบข่าวต่างก็มีความปีติยินดีเป็นล้นพ้น ก็ได้เตรียมภัตตาหารมาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต   แล้วสังเกตเห็นว่าสิ่งของที่ประชากรนำมาถวายนั้น มี “มะเต้า” (แตงโม) มากกว่าสิ่งของอื่นใด พระพุทธองค์จึงทรงทำนายและตรัสกับประชากรที่นำของมาถวายว่า”ดูกร ท่านทั้งหลาย ดินแดนแห่งนี้อุดมด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ต่อไปภายหน้าจะเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเมืองและขอตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ดอนเต้า” (ดอนคือเนินเล็ก ๆ เต้าคือ มะเต้า หรือแตงโม  คำว่าดอนเต้า   เรียกขานกันมาตั้งแต่บัดนั้น นาน ๆ  เข้าก็เรียกเพี้ยนไปเป็น “ดอยเต่า” จนปัจจุบันนี้และชื่อดอยเต่าก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลดอยเต่าเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น

พระพุทธองค์ยังทรงทำนายต่อไปอีกว่าดินแดนแห่งนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านสองฝั่งแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ดี ในกาลข้างหน้าจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป  ผู้คนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำนี้จะถูกรบกวน น้ำจะไหลกลับเพราะจะมีพญานาคตัวใหญ่มาขวางกั้นลำน้ำแห่งนี้ และจะมีสำเภาเงิน สำเภาทองวิ่งขึ้นล่องเป็นประจำ กาลนั้นดินแดนแห่งนี้จะเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองในแคว้นนี้

ถ้าวิเคราะห์คำทำนายจะเห็นว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลที่อำเภอสามเงาจังหวัดตาก ปิดกั้นแม่น้ำปิง ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นมาก จนถึงอำเภอฮอด ประชาชนมีถิ่นฐานอยู่เดิมสองฝั่งแม่น้ำปิงต้องอพยพหนีน้ำท่วมเข้ามาอยู่ในบริเวณที่ดินจัดสรรของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จึงเกิดชุมชนอย่างหนาแน่น บริเวณอ่างเก็บน้ำอุดมไปด้วยปลานานาชนิด ประชาชนบางกลุ่มบางหมู่ได้ยึดอาชีพจับปลาขาย

มีการสัญจรไปมาติดต่อกันโดยทางเรือกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง       มีความเจริญขึ้นเรื่อย ๆ มาสมดังคำทำนายที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้.

ประวัติดอยเต่า

doitaohistory.jpg

อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่  อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย ที่ว่าการอำเภอดอยเต่า ตั้งอยู่ที่ บ้านแปลง 5 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเดื่อ บนถนนสายฮอด-แม่ตืน (ทางหลวงหมายเลข 1103กิโลเมตรที่ 33)  ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้  125 กิโลเมตร ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 90 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 108) และตามถนนฮอด – แม่ตืน (ทางหลวงหมายเลข 1103)

พื้นที่อำเภอดอยเต่า เดิมอยู่ในความปกครองของอำเภอฮอด ประกอบด้วย 4 ตำบล คือตำบลบ้านแอ่น ตำบลท่าเดื่อ ตำบลมืดกา และตำบลดอยเต่า การคมนาคมติดต่อกับอำเภอฮอด แต่ก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากจะเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งยังมีไม่มาก เช่นปัจจุบัน ต้องนั่งรถจากตำบลดอยเต่าไปบ้านแม่ตืน อำเภอลี้จังหวัดลำพูน เข้าไปในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้อนกลับมายังอำเภอฮอด ทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก หากเดินทางด้วยทางเท้า ต้องค้างแรมระหว่างทาง การติดต่อประสานงานระหว่างอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นปัญหาด้านการปกครอง ไม่สามารถที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎรได้อย่างทั่วถึง สภาพของชุมชนหมู่บ้านอยู่กระจัดกระจายตามสองฝั่งแม่น้ำปิง

หลังจากเขื่อนภูมิพลในเขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก สร้างเสร็จ เมื่อกักเก็บน้ำทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงขึ้น กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรในเขตตำบลบ้านแอ่น ตำบลท่าเดื่อ ตำบลมืดกา ถูกน้ำท่วม กรมประชาสงเคราะห์ได้ดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เขื่อนภูมิพล ขึ้นไปปี พ.ศ. 2506 ช่วยเหลือราษฎรประมาณ 2,400 ครอบครัว

ทางราชการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ 4ตำบลดังกล่าวอยู่ห่างไกลอำเภอฮอด มีชุมชนหนาแน่น เพื่อสะดวกในด้านการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอดอยเต่า ให้อยู่ในความปกครองของอำเภอฮอด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2515

ต่อมา กิ่งอำเภอดอยเต่า มีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณูปโภค และการคมนาคม ทำให้กิ่งอำเภอดอยเต่าเจริญขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอดอยเต่า ขึ้นเป็นอำเภอดอยเต่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2522 การจัดตั้งอำเภอได้รวมเอาตำบลนาคอเรือเข้าไปด้วย ดังนั้น อำเภอดอยเต่าจึงมี 5 ตำบล คือ ตำบลบ้านแอ่น ตำบลมืดกา

ตำบลนาคอเรือ ตำบลท่าเดื่อ และตำบลดอยเต่า

ช่วงปี พ.ศ. 2525-2526 มีการปรับปรุงแบบการปกครองของอำเภอดอยเต่า มีพระราชกฤษฎีกาโอนตำบลนาคอเรือไปขึ้นกับอำเภอฮอดตามเดิม เพราะสะดวกในการคมนาคมและตั้งตำบลโปงทุ่ง แยกจากตำบลดอยเต่า ตั้งตำบลบงตัน แยกจากตำบลท่าเดื่อ ปัจจุบันอำเภอดอยเต่า มีเขตการปกครองทั้งหมด 6ตำบล 43 หมู่บ้าน

 

คำขวัญอำเภอดอยเต่า

“มะนาวลูกใหญ่   ลำไยเนื้อหนา     ดอยเกิ้งสูงสง่า   ชิมรสปลาดอยเต่า”

 

ขนาดที่ตั้งและอาณาเขตที่ตั้ง

          ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่   ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่   125 กิโลเมตร  ตามทางหลวงหมายเลข  108  ถนนเชียงใหม่ – ฮอด และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1103ถนนฮอด-แม่ตืน มีพื้นที่ประมาณ 803.918 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ502,448 ไร่ เป็นพื้นที่ภูเขา 659.2 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมด

อาณาเขต

– ทิศเหนือ            ติดต่อกับตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

– ทิศใต้         ติดต่อกับตำบลนาทราย และตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

– ทิศตะวันออก    ติดต่อกับตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

– ทิศตะวันตก       ติดต่อกับตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

ลักษณะภูมิประเทศ

           สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันประกอบด้วย  หุบเขาและลำห้วยมีภูเขาสูงโดยรอบ  มีรูปทรงคล้ายอ่างเก็บน้ำเมื่อฝนตกน้ำตามลำห้วยจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงอย่างรวดเร็ว และถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากจะมีน้ำกักขังเป็นทะเลสาบดอยเต่า สภาพดินทั่วไปเป็นดินปนทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้สภาพป่าเป็นป่าโปร่ง โดยอาจแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1ช่วงใจกลาง เดิมเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพล      จึงเกิดน้ำท่วม ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทะเลสาบซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมของ กฟผ. พื้นที่ประมาณ 58ตารางกิโลเมตร หรือ 36.250 ไร่ มีระดับความลาดชันต่ำกว่า 260 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2507

ลักษณะที่ 2 ส่วนริมฝั่งด้านตะวันออกเขตทะเลสาบ เป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันความลาดชันตั้งแต่ 260-350 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนและสถานที่ราชการต่าง ๆ สำหรับริมฝั่งด้านตะวันตกจะมีหมู่บ้านเพียง 1 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองบัวคำ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเดื่อซึ่งในปัจจุบันราษฎรได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่บริเวณด้านตะวันออก เช่นเดียวกันแหล่งชุมชนอื่น ๆ แต่ยังคงมีราษฎรส่วนหนึ่งอยู่อาศัยในที่บริเวณเดิมเป็นจำนวน 42หลังคาเรือน

ลักษณะที่ 3 ส่วนบนขอบอ่าง มีระดับสูงกว่า 350เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่โดยรอบกว้างใหญ่มีถึงร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมดหรือประมาณ659.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 412,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ไม่เหมาะต่อการเกษตรภูเขาสูง ได้แก่ ดอยอุทา ดอยเลี่ยม ดอยเปางาม ดอยจำปี ดอยยาว ดอยผาเต้น ดอยผารา เป็นต้น

 

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปของอำเภอดอยเต่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24.85 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนจะร้อนจัดและมีพายุพัดรุนแรง เกิดวาตภัยเป็นประจำทุกปี ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด มีหมอกปกคลุม  พื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง 4 องศาเซลเซียสส่วนฤดูร้อนจะร้อนจัด อุณหภูมิประมาณ 41.2 องศาเซลเซียส แห้งแล้งจัดในฤดูร้อนและฤดูหนาว

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีจากรายงานการจดบันทึกสถิติของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล     ปี 2517-2538 จะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่า  900  มิลลิลิตร  โดยมีฝนตกสูงสุดในปี พ.ศ. 2518 วัดได้ 1,568.5 มิลลิเมตรและต่ำสุดในปี พ.ศ.2519 วัดได้ 675 มิลลิลิตร ส่วนใหญ่ฝนจะตกซุกในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน ของทุกปี

การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยเทศบาลตำบล 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลท่าเดื่อ จัดตั้งขึ้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม2542 มีเนื้อที่ประมาณ 12.5 ตารางกิโลเมตร อยู่เขตตำบลท่าเดื่อ 3 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1,2 และหมู่ที่ 3 และตำบลมืดกา 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1,2 และหมู่ที่ 3 ตามลำดับ

องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน5 แห่ง  ดังนี้

1. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแอ่น

2. องค์การบริหารส่วนตำบลบงตัน

3. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเดื่อ

4. องค์การบริหารส่วนตำบลดอยเต่า

5. องค์การบริหารส่วนตำบลโปงทุ่ง

การเมืองในดอยเต่า

อำเภอดอยเต่าอยู่ในเขตเลือกตั้งที่  8  ของจังหวัดเชียงใหม่  ประชาชนมีความสนใจในทางการเมืองมากพอสมควร จะเห็นได้จากการมีการรวมพลคนเสื้อแดงถึงสองครั้งในรอบปี 2552   คนในพื้นที่ส่วนมากมีความคิดไปตามกระแสการเมืองส่วนกลางที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการเมืองระดับท้องถิ่นอำเภอดอยเต่ามีสมาชิกสภาท้องถิ่นตามเขตการปกครอง ดังนี้

1. สมาชิกสภาจังหวัด                                                        จำนวน   1 คน

2. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าเดื่อ                                   จำนวน  12  คน

3. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล                       จำนวน  74  คน

ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายใน

อำเภอดอยเต่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเตี้ยและเนินเขาสลับกัน มีทรัพยากร ธรรมชาติมาก สถานการณ์ด้านการก่อการร้ายไม่มีปรากฏ จะมีแต่เพียงมิจฉาชีพ และ ยาเสพติด

อำเภอดอยเต่า มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักของอำเภอ คือ

– สถานีตำรวจภูธรอำเภอดอยเต่า

– สถานีตำรวจภูธรตำบลแม่กา

 

รายชื่อส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ส่วนราชการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอดอยเต่า มี 2 ประเภท คือ ส่วนราชการส่วนภูมิภาคที่สังกัดอำเภอ และส่วนราชการที่สังกัดส่วนกลาง ดังนี้

(1) ส่วนราชการส่วนภูมิภาคที่สังกัดอำเภอโดยตรงมีดังนี้

1. ที่ทำการปกครองอำเภอ

2. พัฒนาชุมชน

3. สัสดีอำเภอ

4. ที่ดินอำเภอ

5. สาธารณสุขอำเภอ

6. เกษตรอำเภอ

(2) ส่วนราชการที่สังกัดส่วนกลาง (นอกสังกัดอำเภอ) ที่มีสำนักงานอยู่ในเขตท้องที่อำเภอดอยเต่า มีดังนี้

1. นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่

2. หมวดการทางดอยเต่า แขวงการเชียงใหม่

3. หน่วยป้องกันปราบปรามประมงน้ำจืด เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

4. หน่วยป้องกันและรักษาป่า  ที่ ชม 35 (ดอยเต่า)

5. โรงพยาบาลดอยเต่า

6. โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม

7. ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน

8. สรรพากรพื้นที่สาขาดอยเต่า

9. กลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอดอยเต่า

10. วัฒนธรรมอำเภอดอยเต่า

11. โรงเรียนประถมศึกษา 26 โรงเรียน

(3) รัฐวิสาหกิจ ที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยเต่า มีดังนี้

1. หน่วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

2. ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดอยเต่า

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฮอด หน่วยดอยเต่า

4. ที่ทำการชุมสายโทรศัพท์อำเภอดอยเต่า

5. ธนาคารออมสินสาขาดอยเต่า

(4) ภาคเอกชน

1. สหกรณ์การเกษตรดอยเต่า จำกัด

2. สหกรณ์การเกษตรนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จำกัด

scroll to top