ผ้าซิ่นหนีน้ำท่วม

traditionalweav.jpg

เดิมทีคนดอยเต่าจะอาศัยอยู่เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มลุ่มน้ำแม่หาดซึ่งจะอยู่บนพื้นที่ราบสูงริมน้ำแม่หาด ได้แก่ บ้านดอยเต่าเก่า บ้านไร่ โปงทุ่ง อีกกลุ่มหนึ่งจะมีมากกว่ากลุ่มแรก ได้แก่ ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่ปิง ได้แก่ บ้านแม่กา บ้านชั่ง ท่าเดื่อ บ้านน้อย จนถึงบ้านแอ่น มีหมู่บ้านทั้งเล็กและใหญ่รวมกันถึง 21 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 54 ตารางกิโลเมตร ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว ถั่ว ยาสูบ ครั่ง และค้าขาย โดยนำสินค้าใส่เรือแพล่องไปขายทางตอนล่างแถบเมืองตากและปากน้ำโพ

มาเมื่อปี พ.ศ. 2495 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชน อ.ดอยเต่า เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศสร้างเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล) โดยกั้นแม่น้ำปิงตรงบริเวณช่องเขายันฮี อ.สามเงา จ.ตาก แต่เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ น้ำได้เอ่อขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำปิง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องอพยพขึ้นมาอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองฯ ของเขื่อนภูมิพลที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์

แต่เพราะเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศ ทำให้ภาครัฐไม่ได้ออกแบบวิธีการจัดการที่มีแบบแผน ทำให้การจัดการด้านสาธารณูปโภคให้กับผู้อพยพเป็นไปอย่างขลุกขลัก หลายหมู่บ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ รัฐทำได้เพียงนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกกันเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทำให้คนในชุมชนหลายหมู่บ้านตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เช่น บ้านหนองบัวคำเดิมได้อพยพไปอยู่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นต้น

ดังเรื่องราวของคนเรือหาสมบัติบันทึกในช่วงนั้นว่า…“เห็นหีบธรรมลอยน้ำเป็นร้อยเป็นพันก็สังเวช” ชาวหมู่ผู้คนพากันหนีตายพลัดหายไปจากถิ่น นางแม่เรือนและแม่อุ้ยอันเคยได้รังสรรค์ผ้านุ่งครัวใบทั้งมวลก็ละทิ้งกี่แลหูกทอไว้ใต้น้ำ ขนาดสิ่งที่จะใช้ยังชีพอย่างหม้อชามรามไหยังละขว้าง ไปหาเอาทางหน้า นับประสาอะไรกับเครื่องนุ่งพันกายไม่ตายก็หาใหม่ หอบมาแต่ผ้าซิ่นไม่กี่ผืนอันที่ได้เคยทอเมื่อตอนอยู่ม่วนกินหวาน หวังจะเอาไว้นุ่งไปเฝ้าพระแก้วเจ้าจุฬามณีเมืองฟ้าเมื่อยามละสังขารสิ่งทั้งมวลจึงปล่อยให้น้ำอันสร้างไฟฟ้ามากลบหายอยู่ใต้ธรณีนทีใหญ่กว้างนั้น แล…”

“ผ้าทอตีนจก” ของคนดอยเต่าจึงกลายเป็นของมีค่าดุจดังทองคำที่ผู้อพยพสามารถหยิบฉวยในช่วงเวลาของการย้ายถิ่น ในขณะที่ของหลายชิ้นไม่สามารถนำติดตัวมาได้ ต้องปล่อยให้จมหายไปกับการเอ่อท้นของน้ำในเขื่อน

“ผ้าซิ่นตีนจกลายหนีน้ำท่วม” หรือ “ซิ่นน้ำถ้วม” ตามภาษาอักขระล้านนา จะเป็นซิ่นไทยยวนของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าของ จ.เชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีสีสันสดใส มีลวดลายมากถึง 500 – 600 ลาย ผ้าซิ่นมีองค์ประกอบสามส่วนคือส่วนที่เป็นตีนจก ตัวซิ่น และหัวซิ่น

นักภูษิตาภรณ์พิลาสหลายท่านสรุปว่า ซิ่นน้ำถ้วมแบบเก่ามักจะทอลายห่าง เป็นแบบอย่างของตีนจกโบราณของทุกพื้นที่ก่อนที่จะเพิ่มลายเพิ่มฝ้ายให้หนาขึ้นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซิ่นน้ำถ้วมไม่ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองวาววับอย่างของชาวหอคำหลวง เพียงแต่แซมดิ้นและซอนไหมในบางส่วนของลวดลายเท่านั้น จึงงามอย่างพอดีๆ

คุณฐาปณี ไหวยะ ตัวแทนลูกหลานคนดอยเต่า ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้สนใจเรื่องผ้าซิ่นของคนดอยเต่ามาตั้งแต่แรก เพราะเห็นอยู่ในชุมชนจนเป็นเรื่องปกติ แต่พอมีโอกาสมาศึกษาต่อในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วผ้าซิ่นลายน้ำท่วมเป็นของมีค่าที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงเริ่มศึกษา ฝึกทอผ้าจากพ่อครูแม่ครู และสืบหาผ้าซิ่นดอยเต่าที่อาจเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่เหลือให้คนรุ่นหลังได้สืบสานและบอกเล่าอัตลักษณ์ของคนดอยเต่ามาแกะลวดลายและทำการทอผ้า ซึ่งต้องทำให้เหมือนลายดั้งเดิมมากที่สุด โดยเฉพาะเน้นสีแดงดำที่บ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นผ้าซิ่นน้ำถ้วมดอยเต่า
….
เมื่อคุณฐาปณีกลับมายังชุมชนก็อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ จึงประสานการทำงานร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ดอยเต่า ช่วยกันรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้าซิ่นน้ำถ้วม ด้วยการจัดตั้งและเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์ผ้าถาวรและศูนย์เรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลดอยเต่าด้านหัตถกรรม (ผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า)” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาของชุมชนและผู้สนใจ เป็นแหล่งศูนย์ฝึกอาชีพกับคนในชุมชนสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมทั้งต้องการให้เยาวชนดอยเต่ามีจิตสำนึกรักบ้านเกิดสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์สวยงามเฉพาะตัวอีกด้วย

นอกจากนั้นยังใช้ “สภาองค์กรชุมชนตำบลดอยเต่า” เป็นเวทีกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การจัดเวทีนำเสนอโครงการผ้าซิ่นตีนจกเพื่อขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในชุมชน การประสานหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นให้ประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตลาดผ้าซิ่นให้กว้างไกล ทำให้เริ่มมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและหนุนเสริมการพัฒนา และยกระดับให้เกิดการต่อยอดงานการพัฒนามากขึ้น

ในแง่ของความเปลี่ยนแปลงภายหลังที่มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ นั้น คุณฐาปนีมองว่ามีการเปลี่ยนแปลง 2 ระดับแรกคือ เริ่มเห็นคนในชุมชนและคนรุ่นใหม่มุ่งมั่นที่จะสืบเสาะและสืบทอดผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของชุมชนที่ยังเหลือให้คนรุ่นหลังได้สืบสานและการบอกเล่าผ่านลวดลายเรื่องราวบนผืนผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า

ส่วนความเปลี่ยนแปลงระดับที่ 2 คนในชุมชนและหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ยอมรับการทำงานศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ สังเกตได้จากการเริ่มมีเยาวชนในหมู่บ้านเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในศูนย์การเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ มากขึ้น

“อย่างไรก็ดีแม้ว่าการจัดศูนย์เรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นฯ จะเริ่มเห็นเส้นทางความสำเร็จมาได้ระยะหนึ่ง แต่ก็ยังอยากให้การทอผ้าซิ่นกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริงควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า ซึ่งในอนาคตจะเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ หวงแหนภูมิปัญญาของชุมชน และรักษาสืบสานผ้าทอน้ำท่วมดอยเต่าได้อย่างยั่งยืน” คุณฐาปนีกล่าว

อ้างอิงบทความ:
เอกสารงานสมัชชาพลเมืองเชียงใหม่ วันที่ 23 กันยายน 2560
ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนล่าง

537290.jpg

อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนล่าง

กลุ่มหมู่บ้านที่สำคัญที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่หาด   และอยู่นานกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ  ที่กล่าวมาแล้วทุกหมู่บ้าน  คือกลุ่มหมู่บ้านหลวงดอยเต่า บ้านหลวงดอยเต่า  เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุด  ที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่หาด  แต่บอกไม่ได้ว่าโยกย้ายมาจากไหน อยู่บริเวณนี้นานกี่ปี พ่ออุ้ยกาบ ปันจินะ อายุ ๙๖ ปี  เป็นคนเก่าคนแก่ของบ้านหลวงดอยเต่า  บอกว่า พอจำความได้  ก็เห็นว่าบ้านดอยเต่ามีเป็นร้อยครัวเรือนแล้ว  ปัจจุบันได้แยกสาขาเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ  อยู่ในละแวกนี้ ถึง  ๔  หมู่บ้าน คือ  บ้านสันป่าดำ(บ้านที่พ่ออุ้ยกาบอยู่)  บ้านสันต้นเปา  บ้านปากทางดอยเต่า  บ้านฉีมพลี    ถ้านับจำนวนครัวเรือนมารวมกันแล้วน่าจะมากกว่าพันครัวเรือน แสดงถึงว่าบ้านหลวงดอยเต่าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ อายุการตั้งหมู่บ้านนานกว่าบ้านอื่น ๆ  ที่กล่าวมาแล้ว แต่ร่องรอยอารยธรรมก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านอื่น ๆ เท่าไหร่นัก

 จากหลักฐานใบลาน  ประวัติของบ้านตาล  ได้กล่าวถึงอาณาเขตของบ้านตาลและได้กล่าวถึงคนจาวดอยเต่าว่า “ขุนตูสั่งไว้สันนี้  แดนตี๊แต้  ตะกล้าไร่หลวง  แผวนาร้องเรียว  แผวปวกก้อน  หนองอึ่ง  ลงสุดตุบ ขึ้นแม่หาดเป๋นแดน  แผวห้วยบ่อขุมเงิน  ขึ้นห้วยบ่อขุมเงิน แผวดอยกั้ง  แผวห้วยสารปี  แผวเด่นข้าวตาก  ขึ้นดอยผากอง  ซื่อตามสัน โก้ดตามสัน  น้ำไปตางวันออกเป๋นตี๊เมืองลี้  น้ำไหลไปตางวันตกตี๊บ้านตาล  ไต่สันไปแผวม่อนพระเจ้า  ลงสันม่อนพระเจ้าแผวแม่ลี้ฝ่ายใต้  สูบแม่ละงอง ล่องตามแม่ลี้ฝ่ายวันออกจุเมืองลี้มีสันนี้แล  อัน ๑  เล้า ตี้ดอยป่าหมาก ซื่อตามสัน โก้ดตามสัน  แผวแป๋ตัดม่อนเส้า  ลงผาตั้งลงแม่หาด  แผวร้องปูขึ้นนั้น  จาวดอยเต่าจ๋นด้วยอันหาตี้เยี๊ยะตี้กิ๋นบ่ได้ จึ่งเอาเงิน  ๕  เหล่มเจียงมาขอแก้กลาหัวไร่หางนากิ๋น แจ๋นตู่ข้าอยู่จิ๋มกันนี้ปอขอหื้อกินเต๊อะ  ยามนั้นขุนบ้านตาลเปื้อนว่าบ่ดี  ป๋ายหน้าลูกหลานสูเจ้าจั๊กว่า   ตี้ตูซื้อขาดแล้ว    จั๊กว่าอันตูบ่ขายแล  ป๋ายหน้าลูกหลานตูไปง่าย  หากตักรวงดั้นจร เอาน้ำตี้หลังดินตูคืนเสีย  สูเจ้าจั๊กจูบ่จู  กั๋นจูตูก็จั๊กเอาเงินสูไว้จา  ป๋ายหน้ากั๋นสูบ่อยู่ตามสัจจะวาจานั้น  ตูจั๊กขื๋น ๕ เหล่มเจียงหื้อสูเสีย  ตี้นี้เป๋นตี้ตูดังเก่า  มีกำปฏิญานกันไว้สันนี้แล้ว  จาวดอยเต่าจิ่งว่าไปหน้า เจ้นลูกหลานตูข้าตังหลาย  กันว่าเขาบ่อยู่  ตามกำสัจจะวาจา ตามกำอันนี้ขื๋นเต๊อะว่าอั้นแล้ว  ขุนตนจิ่งปล่งหื้อตั้งแต่นั้นมา แลมีกำสันนี้แลฯ”

จากข้อความบันทึกใบลาน  เป็นภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ดังกล่าว  บอกให้รู้ว่า  คนดอยเต่าโยกย้ายมาอยู่บริเวณนี้ใหม่ ไม่มีที่ทำกิน จึงขอซื้อที่ดินของคนบ้านตาล  ซึ่งมีทุ่งนาในบริเวณนี้มาก่อน  คนบ้านตาลไม่ขายให้  แต่จะให้ทำกิน ถ้าวันข้างหน้าไม่อยู่ที่นี่ต่อ  คนบ้านตาลจะคืนเงินให้  ๕  เหล่มเจียง  น่าเสียดายที่ข้อความที่บันทึกไว้ไม่ได้บอกวันเดือนปีที่คนดอยเต่าโยกย้ายมาอยู่  และโยกย้ายมาจากไหน  แต่ได้โยกย้ายมาใหม่ ๆ  ไม่มีที่ทำกิน และไม่แน่ใจว่าจะอยู่ต่อไปหรือไม่  ถ้าคนดอยเต่าไม่อยู่  คนบ้านตาลจะคืนเงินให้  จนถึงเดี๋ยวนี้คนดอยเต่าคงไม่ได้เงิน ๕ เหล่มเจียงคืน เพราะคนดอยเต่าได้ตั้งหลักปักฐาน สร้างบ้านสร้างเรือนขยับขยายแตกสาขาออกเป็นหลายหมู่บ้าน  และได้สร้างวัดขึ้นใหม่   คือ  วัดบ้านหลวงดอยเต่า

วัดบ้านหลวงดอยเต่าเดิมอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่หาด  แต่ถูกน้ำท่วมจึงย้ายมาอยู่ที่วัดหลวงดอยเต่าปัจจุบัน  ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างของชนเผ่าลัวะ  มีหลักฐานสำคัญคือประตูโขงเก่า ๆ เชื่อว่ามีอายุก่อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เคยขุดพบพระไม้ปางมารวิชัย และยังมีกำแพงวัด มีซากอิฐปรักหักพัง  บริเวณวัดอยู่ติดกับดงหอพ่อเฒ่าหนาน (ศาลผีเสื้อบ้าน หรือผีประจำหมู่บ้าน)

นอกจากบริเวณวัดหลวงดอยเต่าจะเป็นร่องรอยอารยธรรมของคนลัวะตามที่พ่ออุ้ยกาบเล่าให้ฟังแล้ว  ในบริเวณนี้ ยังมีวัดแยงเงา  ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่ตูบ(เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำแม่หาด)  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านฉีมพลีประมาณ  ๕๐๐  เมตร (สันนิษฐานว่า  เงาของพระธาตุ หรือวิหารอะไรสักอย่างที่เกิดเป็นเงาอยู่ในน้ำ  จึงได้ชื่อว่าวัดแยงเงา คำว่า  แยง หมายถึง ดู แยงเงา  น่าจะหมายถึง  ดูเงาตนเองในน้ำแม่ตูบ)  เวลานี้ไม่เหลือแม้แต่เงา เหลือแต่ซากก้อนอิฐเก่า ๆ บ้างพอรู้ว่าเป็นวัดเท่านั้นเอง

วัดนาโฮ้งเก้า  เป็นอีกวัดหนึ่งที่พ่ออุ้ยกาบเล่าให้ฟัง เป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านอุ้ยกาบ  วัดแห่งนี้น่าสนใจมาก  เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่วัดเดียวที่พอจะเห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่ให้เห็น  ลูกของพ่ออุ้ยกาบ  อายุ  ๖๐ กว่า ปี  เล่าว่า  สมัยเป็นเด็ก  ยังเคยเห็นพระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่ในวัดร้าง  ซึ่งเวลานั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาทึบกลายเป็นดงย่อม ๆ แล้ว  ถามว่า เดี๋ยวนี้ พระพุทธรูปที่ว่าหายไปไหน  อุ้ยกาบเล่าว่า  ครูบาขาวปี๋(นักบุญแห่งล้านนาที่คนดอยเต่าให้การเคารพนับถือ)  เคยเอาไปครั้งหนึ่งแต่เอามาคืนไว้ที่เดิม  หลังจากนั้นหมวดหมาน  หรือหมวดสมาน  เจ้าหน้าที่ตำรวจโรงพักแม่กาเอาไปแต่ไม่ได้เอามาคืน ไม่มีใครที่จะทักท้วงขอคืน  เนื่องจากคิดว่าไม่ใช่มรดกตกทอดของบรรพบุรุษ  เป็นของคนลัวะ  ซึ่งคนบ้านเราไม่กล้าที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยหรอก เพราะกลัวผีวัดร้างทำร้าย  อุ้ยกาบ  บอกว่า  วัดห่างโฮ้งเก้า อยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้ทุ่งนา  ส่วนที่ตั้งของวัดม่อนจอมธรรมปัจจุบัน จะเป็นร่องรอยซากปรักหักพังพระธาตุของวัดโฮ้งเก้าซึ่งอยู่บนม่อนดอยใกล้ๆ นั่นเอง

อารยธรรมบ้านไร่

ห่างจากบ้านหลวงดอยเต่า  ล่องตามสายน้ำแม่หาดไม่เกิน ๓  กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งบ้านไร่  หมู่ ๒  ต.  ดอยเต่า  อ. ดอยเต่า  จ. เชียงใหม่  ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ไม่แพ้บ้านหลวงดอยเต่า จากการสอบถามแม่อุ้ยพา  เปี้ยพริ้ง อายุ  ๘๐  ปี แม่อุ้ยพาเล่าให้ฟังว่า  บ้านไร่เกิดจากการที่มีคนย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อมาทำไร่  จึงได้ชื่อว่าบ้านไร่  คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า คนบ้านไร่ได้โยกย้ายมาจาก   อ.แม่พริก จ. ลำปาง  แรกเริ่มมีคนมาทำไร่อยู่เพียง  ๓  ครอบครัว คือ  ๑.ครอบครัวแม่เฒ่าฟองแก้ว  ๒.ครอบครัวแม่เฒ่าเป็ง  ๓. ครอบครัวแม่เฒ่างา

แม่อุ้ยพา เปี้ยพริ้ง แม่อุ้ยติ๊บนำปุ๊ด แม่อุ้ยอ่อน ปาสอน

 

เดิมบ้านไร่มีวัดอยู่บริเวณตลาดนัดวันศุกร์ติดลำห้วยแม่หาด สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒  จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน  ภายในวัดเก่ามีโฮง(กุฏีสงฆ์)หลังใหญ่  มีวิหาร  แต่ไม่มีเจดีย์หรือพระธาตุ  มีเจ้าอาวาสชื่อครูบาเผือก  เนื่องจากวัดคับแคบและติดกับฝั่งแม่น้ำแม่หาด ถูกน้ำกัดเซาะจึงย้ายมาอยู่ที่วัดบ้านไร่ปัจจุบัน   ลุงหนานใจ๋  โด้คำ  อาจารย์วัดบ้านไร่  เล่าว่า  บริเวณของวัดปัจจุบันก็มีก้อนอิฐสมัยเก่า  คล้ายกู่ของคนโบราณหลงเหลืออยู่ให้เห็น  แสดงว่าวัดบ้านไร่ได้ย้ายมาสร้างทับที่เก่าของคนโบราณที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้  เช่นเดียวกับวัดหลวงดอยเต่า

วัดบ้านไร่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านไร่จนทำให้วัดวาอารามมีพระอุโบสถ พระวิหาร  กุฏี  พระธาตุเจดีย์ที่สูงตระหง่านให้เห็นในปัจจุบันนับเป็นเวลาถึง   ๙๓ ปี

ถามถึงร่องรอยอารยธรรมที่เก่าแก่ในบริเวณบ้านไร่แล้ว  ได้คำตอบว่า  ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน  จะมีหนองน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ชาวบ้านเรียกว่าหนองย่าลัวะ   ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านชาวบ้านไร่เรียกชื่อว่าดงผึ้ง (บริเวณสวนลำไยลุงน้อยหนิ้ว)จะมีซากอิฐปรักหักพังเป็นจำนวนมาก มีร่องรอยทางเดินปูด้วยหิน มีแนวกำแพงวัด  พระวิหาร ชาวบ้านเรียกว่า วัดจอมแจ้งกำแปงงาม(พ่อครูทวี ยงสุวรรณวงศ์ ให้ข้อมูล)   พ่อหนานใจ๋  โด้คำ (พ่ออาจารย์วัดบ้านไร่)สันนิษฐานว่าเป็นวัดของชนเผ่าลัวะ

นอกจากดงผึ้งยังมีวัดห่างจ้างคำ  เป็นวัดร้างอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านไร่  ประมาณ  ๑๐ กิโลเมตร  มีร่องรอยของวัดร้าง  บ้านร้าง มีอิฐขนาดก้อนใหญ่ ๆ  มีต้นผลหมากรากไม้ เช่น  มะม่วง  ขนุน  มีร่องรอยของการขุดหาของเก่า  มีร่องรอยของหมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ  วัดห่างจ้างคำ  เช่น  เด่นตูบ     โล๊ะตีนแป   เหล่าป่ากล้วย   วังบ่าบ้า   โดยเฉพาะบริเวณเด่นตูบ  เป็นบริเวณที่มีคนเคยขุดพบพระสิงห์หนึ่ง  บริเวณอื่น ๆ  ไม่ทราบว่าได้อะไรไปบ้าง  มีแต่ร่องรอยการขุดเป็นหลุมเป็นบ่อไปทั่วบริเวณ

ห่างจากบ้านไร่ไปตามลำน้ำแม่หาด  ผ่านวัดร้างจอมแจ้งกำแปงงามไปไม่ไกลนัก  จะมีร่องรอยบ้านร้างของหมู่บ้านเด่นคา ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับบ้านไร่  ได้กลายเป็นบ้านร้างเมืองร้างเมื่อประมาณ ๘๐ ปีที่ผ่านมา   เดิมบ้านเด่นคามีอยู่  ๓  กลุ่ม  คือบ้านเด่นคาเหนือ  บ้านเด่นคากลาง และบ้านเด่นคาใต้  ทั้ง  ๓  กลุ่มหมู่บ้าน  เคยเป็นหมู่บ้านที่เจริญ มีวัดวาอาราม  แต่ปัจจุบันทิ้งเป็นบ้านร้างวัดร้าง  แยกย้ายกันไปอยู่คนละที่คนละทาง  เนื่องจากไม่สามารถขยายบ้านได้  เพราะอยู่ระหว่างแม่น้ำแม่หาดกับทุ่งนา  อีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะน้ำแม่หาดเปลี่ยนทิศ ทำให้ฝั่งแม่น้ำพังทลายเข้าสู่หมู่บ้าน  เท่าที่สืบทราบจากคนเฒ่าคนแก่บ้านไร่บอกว่า   บ้านเด่นคาเหนือย้ายมาอยู่บ้านไร่  บ้านเด่นคากลางย้ายไปอยู่บ้านสันติสุข  ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของลำห้วยแม่หาด  อยู่ห่างจากบ้านเดิมประมาณ  ๓ กิโลเมตร    บ้านเด่นคาใต้ย้ายไปอยู่บ้านถิ่นสำราญ อยู่ทางทิศเหนือของบ้านเดิมประมาณ  ๑  กิโลเมตร  ปัจจุบันนี้ทั้งบ้านถิ่นสำราญและบ้านสันติสุขเป็นหมู่บ้านขนาดกลางได้มีประชากรที่ย้ายจากการอพยพหนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่สมทบ  จึงทำให้เป็นหมู่บ้านที่มีหลากหลายสำเนียงอย่างเห็นได้ชัด

พ่ออุ้ยกาบ ปันจินะ อายุ ๙๖ ปี บ้านสันต้นเปา ผู้ให้สัมภาษณ์

ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาด

DSC04673-1.jpeg

ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาด

น้ำแม่หาด  เป็นแม่น้ำขนาดเล็ก  มีน้ำไหลตลอดปี  ขุนน้ำอยู่ในเขตตำบลแม่ลาน   อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  ไหลจากยอดเขาผ่านตำบลแม่ลาน  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน   ตำบลโปงทุ่ง  ตำบลดอยเต่า   อำเภอดอยเต่า   ไหลลงสู่น้ำแม่ปิงในเขตตำบลท่าเดื่อ  อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่  รวมเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า  ๑๐๐ กิโลเมตร

น้ำแม่หาดเป็นเสมือนสายเลือดของคนดอยเต่า  โดยเฉพาะดอยเต่าด้านทิศใต้   พื้นที่ตำบลโปงทุ่ง  ตำบลดอยเต่า  ได้ใช้น้ำแม่หาดหล่อเลี้ยงชีวิตมาโดยตลอด  ไม่ว่าจะใช้บริโภคอุปโภค ใช้ในการเกษตร ทำนาปลูกข้าว  ทำสวนลำไยสวนหอม สร้างรายได้ให้กับคนดอยเต่านับเป็นเงินหลายสิบล้านบาทต่อปี  และยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์  มีทั้งกุ้งหอยปูปลา ให้คนดอยเต่าจับกินเป็นอาหารตลอดทั้งปี

นอกจากน้ำแม่หาดจะเป็นสายน้ำที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนดอยเต่าแล้ว ยังเป็นแหล่งอารยะธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือ  เนื่องจากมีร่องรอยการถลุงเหล็ก และซากปรักหักพังสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ    โดยเฉพาะซากปรักหักพังของวัดวาอารามของคนยุคก่อน ๆ  ตั้งอยู่เรียงรายไปตามสายน้ำ  เริ่มแต่ขุนน้ำแม่หาดจนถึงปากแม่น้ำแม่หาดบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงเลยทีเดียว

อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนบน

พ่อหลวงตัน อดีตผู้ใหญ่บ้านผาต้าย  หมู่ ๑ ตำบลแม่ลาน  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  ท่านอายุ  ๗๘  ปี  ได้เล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่หาดตอนบน ซึ่งมีบ้านผาต้ายหมู่ที่ ๖   บ้านผาต้าย หมู่ ๑ บ้านหนองมะล้อ  บ้านห้วยทรายขาว  บ้านแม่ลาน  บ้านแม่ก๋องวะ  รวมถึงบ้านกองวะ  ล้วนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ทั้งสิ้น  อายุของแต่ละหมู่บ้านน่าจะไม่ถึง  ๑๐๐  ปี  บ้านผาต้ายหมู่ ๖    เป็นหมู่บ้านแรก ๆ  ที่มาตั้งรกรากบริเวณลุ่มน้ำแม่หาดแห่งนี้   เดิมมาอาศัยอยู่เพียงสามหลังคา  เพื่อมาเป็นคนงานส่งอาหารให้ฝรั่งสองพี่น้องซึ่งมาสัมปทานไม้สักบริเวณนี้  พ่อหลวงตันเล่าว่า  บริเวณนี้เป็นดงป่าไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้สักบางต้นห้าคนโอบไม่จอด    คนงานที่มารับจ้างขนไม้ซุงด้วยล้อ  จะขนไม้ซุงล่องไปตามน้ำแม่หาดไปส่งที่แม่น้ำปิง  จากนั้นฝรั่งเขาจะทำแพไม้ซุงปล่อยลงน้ำ ให้ไหลลงตามน้ำปิง  จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ออกสู่อ่าวไทย  ตามลำดับ

การขนย้ายไม้ซุงในสมัยนั้นจึงเป็นที่ไปที่มาของบ้านหนองมะล้อ   คือ เดิมเขาเรียกว่า  หนองพักล้อ  คนงานขนไม้ซุงไปพักล้อ  พักวัว  บริเวณหนองน้ำ   จึงเรียกว่า หนองพักล้อ  แต่ปัจจุบันเพี้ยนเป็นหนองมะล้อ จริง ๆ  แล้วเวลานั้นมีบ้านผาต้ายหมู่ที่ ๖   เพียงหมู่บ้านเดียว  บ้านอื่น ๆ ยังไม่มี  บริเวณแถบนี้มีแต่ดงไม้สัก  หลังจากฝรั่งตัดไม้ไป  ผืนที่ป่ากลายเป็นที่โล่งเตียน เหมาะกับการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำนาทำไร่  ผู้คนจากตำบลลี้  บ้านป่าหกน้อย  บ้านป่าหกหลวง บ้านม่วงคำ  บ้านม่วงสามปี๋ จากอำเภอเถินจังหวัดลำปาง ได้ย้ายมาจับจองที่ทำมาหากินพัฒนาเป็นหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองมะล้อ  บ้านห้วยทรายขาว  บ้านแม่ลาน  อายุการตั้งหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านคงไม่เกิน  ๖๐  ปี  ส่วนบ้านผาต้ายหมู่ ๑  เป็นหมู่บ้านที่ขยับขยายจากบ้านผาต้ายหมู่ ๖  อายุคงไม่เกิน  ๖๐  ปีเช่นกัน

บ้านแม่ก๋องวะหมู่บ้านเดียวที่โยกย้ายหนีน้ำท่วมจากบริเวณลุ่มน้ำปิง ในปี  ๒๕๐๗  คนในหมู่บ้านย้ายมาจากหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านโท้ง  บ้านหนองบัวคำ   บ้านท่าครั่ง  บ้านชั่ง  บ้านท่าเดื่อ  ได้เข้ามาอยู่สมทบกับคนอำเภอลี้ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว  อายุการตั้งหมู่บ้านก็คงไม่เกิน ๖๐ ปีเช่นกัน ถัดจากบ้านแม่ก๋องวะลงมาตามแม่น้ำแม่หาด  จะเป็นบ้านกองวะ  ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวที่อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่  บ้านกองวะเดิมเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง  ภายหลังมีคนพื้นเมืองย้ายมาอยู่สมทบ  เท่าที่ทราบก็ยังถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านสร้างใหม่เหมือนกัน

ถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านที่สร้างใหม่ อายุไม่เกิน  ๖๐ ปี  บ้านผาต้ายหมู่ ๖  อายุไม่เกิน  ๑๐๐  ปี แต่ทุกหมู่บ้านดังกล่าว สามารถเล่าถึงอารยธรรมเก่าแก่ให้ฟังทุกหมู่บ้าน  เช่น  บ้านผาต้ายหมู่ ๖  จะอยู่ใกล้กับขุนแม่หาดมากที่สุด  จะมีวัดรอยบ่าตะ หนองจอกหรือรอยพระพุทธบาทหนองจอก  ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านผาต้ายทั้งสองหมู่บ้านให้การสักการะบูชาทุกปี  

มีถ้ำเก่าแก่  ชื่อว่าถ้ำอิด  ปากถ้ำจะมีอ่างน้ำลึกมากและมีน้ำอยู่เต็มตลอดทั้งปีไม่เคยแห้ง เหมือนกับว่าเป็นอ่างน้ำเป็นสิ่งกรีดขวางป้องกันไม่ให้คนข้างนอกเข้าในถ้ำได้โดยง่าย  (คนโบราณเรียกว่ายนต์น้ำ เป็นการป้องกันสิ่งของด้วยเวทมนต์คาถา ไม่ให้คนเอาสิ่งของมีค่าที่อยู่ในถ้ำได้ง่าย) ถ้าใครจะเข้าในถ้ำต้องสร้างแพข้าม ถ้าหากคิดไม่ดี  พูดไม่ดี พูดคำหยาบคาย น้ำจะเอ่อท่วมปากถ้ำไม่ให้คนเข้าไปได้  บางครั้งในวันเพ็ญวันพระจะมีเสียงฆ้องเสียงกลองดังออกจากปากถ้ำเป็นประจำ

ด้านทิศตะวันออกของบ้านผาต้ายหมู่ ๑  จะมีรอยพระพุทธบาทผาผึ้ง  และได้สร้างวัดพระพุทธบาทผาผึ้งเป็นวัดประจำหมู่บ้านใกล้ ๆ กับบ้านหนองมะล้อ จะมีซากกู่เก่าแก่ตั้งอยู่กลางทุ่ง  มีร่องรอยขุดหาของเก่า

สถานที่นี้ลุงอุด  ปันโปทา   คนบ้านหนองมะล้อ  อายุ  ๘๒  ปี

เล่าว่าบางครั้งจะได้ยินเสียงฆ้องเสียงกลองในวันศีลวันพระจากบริเวณนี้  คุณลุงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนโบราณชนเผ่าลั๊วะ  ชาวบ้านหนองมะล้อไม่กล้าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้  เนื่องจากกลัวผีทำร้าย

ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านหนองมะล้อจะมีถ้ำน้ำดิบขี้หม่า  ในถ้ำจะมีร่องรอยคนอาศัยอยู่  มีซากแกลบและมองตำข้าวและเชื่อว่าเป็นคนลั๊วะหนีศึกสงครามไปหลบซ่อนในถ้ำแห่งนี้ แล้วถูกฆ่าตายภายในถ้ำ  คุณลุงยังเล่าว่า คุณลุงมีสวนอยู่บริเวณนั้น  ครั้งหนึ่งคุณลุงนอนหลับในตอนกลางวันได้ฝันเห็นผู้หญิงสาวสามคนออกจากถ้ำมาลูบคลำ ไม่นานมีทหารสูงใหญ่สวมหมวกเหล็กออกมาตาม ในฝันเหมือนถูกผีอำ ดิ้นไม่ได้ ร้องก็ไม่ออก ลุงตกใจตื่นด้วยความหวาดกลัว  ลุงได้แต่เก็บความฝันไว้เพียงคนเดียวไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง กลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ ลุงอุดยังบอกว่า  บนเขาลูกนั้นนอกจากจะมีถ้ำแล้ว ยังมีแร่เหล็ก  และแร่คล้ายแก้วใส  ๆ มีคนจะมาขอทำสัมปทานชาวบ้านไม่ยอมให้ที่หมู่บ้านห้วยทรายขาวมีหลักฐานสำคัญมาก สามารถบ่งบอกได้ว่ามีคนมาอาศัยอยู่บริเวณนี้มานาน ก่อนที่คนห้วยทรายขาวจะเข้ามาอยู่  เนื่องจากในเขตบริเวณบ้านเลขที่  ๔๗   หมู่ ๗      มีเตาถลุงเหล็กโบราณ  (เตาสะกัดหรือแยกเหล็กออกจากก้อนหิน)

อารยธรรมลุ่มน้ำแม่หาดตอนกลาง

ห่างจากบ้านกองวะ ลงมาตามน้ำแม่หาดเป็นระยะทาง  ๙  กิโลเมตร   จะเป็นกลุ่มหมู่บ้านอีกกลุ่มหนึ่ง อยู่ในเขตการปกครอง  ตำบลโปงทุ่ง  อำเภอดอยเต่า  จะมีบ้านโปงทุ่ง  บ้านโปง (บ้านโปงท่า) บ้านหนองเหม็น  บ้านงิ้วสูง  บ้านสันบ่อเย็น บ้านเกาะหลวง  กลุ่มหมู่บ้านนี้จะมีคนอยู่  ๒  เผ่า คือหมู่บ้านที่เป็นคนพื้นเมือง(คนไต) และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง(คนยาง)  มีบ้านโปงทุ่ง  บ้านโปง บ้านสันบ่อเย็น เป็นหมู่บ้านคนพื้นเมืองเป็นหมู่บ้านสร้างใหม่ภายหลังน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗

ลุงก่ำ ชาวบ้านเกาะหลวง อายุ ๘๙ ปี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับชาวกะเหรื่ยง

ลุงก่ำ ชาวบ้านเกาะหลวง อายุ ๘๙ ปี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับชาวกะเหรื่ยง

ลุงก่ำ ชาวบ้านเกาะหลวง อายุ ๘๙ ปี ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับชาวกะเหรื่ยง เพราะคนในหมู่บ้านส่วนมากได้อพยพหนีน้ำท่วมจากบ้านท่าครั่ง  บ้านชั่ง   บ้านแอ่น  บ้านหาดหยวก  บ้านหนองบัวคำ  อายุการสร้างหมู่บ้านคงไม่เกิน  ๖๐  ปี  ส่วนบ้านเกาะหลวง  บ้านหนองเหม็น   บ้านงิ้วสูง  บ้านดอยเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  โดยเฉพาะบ้านเกาะหลวงจะมาอยู่ก่อนคนพื้นเมือง น่าจะมีอายุการตั้งบ้านเรือนมากกว่า  ๖๐  ปี  บอกไม่ได้ว่านานแค่ไหน  แต่ไม่น่าจะเกิน ๑๒๐  ปี

บริเวณแห่งนี้พอจะมีแหล่งอารยธรรมเก่าแก่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านบ้าง  แต่เป็นของคนรุ่นก่อนที่สร้างไว้  เช่น  วัดทุ่งป่าตาล  วัดทุ่งโขง  เวลานี้มีแต่ซากอิฐ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมรกทึบขาดการดูแลรักษา  มีน้อยคนที่จะกล้าเสี่ยงไปขุดค้นของเก่าในวัดร้าง เนื่องจากกลัวผี เพราะคนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านเล่าว่า  คืนวันเดือนเพ็ญมักจะมีเสียงฆ้องเสียงกลองดังจากวัดร้างเป็นประจำ  ทำให้คนส่วนมากขยาดกลัวไม่กล้าไปยุ่งเกี่ยว คงทิ้งไว้ให้อยู่ตามสภาพของมัน  ลุงก่ำ  ชาวกะเหรี่ยง อายุ  ๘๙  ปี  ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดวาอารามของคนลัวะ  เนื่องจากบริเวณทุ่งนาในย่านนั้นเคยมี  โป่ง  ที่สัตว์เลี้ยงของพวกชาวบ้านเกาะหลวงไปกินดินโป่งติดโคนดินโป่งตายเป็นประจำ คนเฒ่าคนแก่เรียกโป่งนี้ว่า  โป่งลัวะ   วัดวาอารามบริเวณนี้ก็น่าจะเป็นของลัวะเช่นกัน

บริเวณวัดบ้านโปงท่า เคยเป็นบริเวณของวัดเก่าแก่   ชาวบ้านเรียกว่าวัดปู่จื๊อ  อยู่ติดกับน้ำแม่หาด  มีซากเศษก้อนอิฐอยู่ในทุ่งนารอบ ๆ วัด และได้มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดร้าง พบพระพุทธรูปโบราณ จำนวนหนึ่ง ขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยและเก็บรักษาไว้อย่างดี

นอกจากนี้ยังมีถ้ำเล็ก ๆ  อยู่ทางทิศใต้ของบ้านงิ้วสูง  ชื่อว่าถ้ำหม้อ  มีวัดถ้ำหม้อที่สร้างขึ้นใหม่  อายุคงไม่เกิน ๕๐  ปี  ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่หลงเหลือและบ่งบอกว่ามีคนมาอาศัยอยู่บริเวณนี้มาก่อน

scroll to top