วัดพระพุทธบาทตะเมาะ

ประวัติวัดพระพุทธบาทตะเมาะ

 
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (หลวงพ่อวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เล่าให้ฟังว่าวัดพระพุทธบาทตะเมาะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาลเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์แห่งกัปนี้ ได้แก่พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมนาคม พระพุทธเจ้ากัสปะ พระพุทธเจ้าสมณโคดมเคยเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ และประทับรอยพระพุทธบาทไว้และเคยมีพุทธสาวกหลายองค์มาปฏิบัติและบรรลุธรรมที่สถานที่แห่งนี้ภายในวัดยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งเช่น รอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์, แท่นหินที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๔พระองค์ประทับไสยาสน์, รอยพระบาทของพระสาวกซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้ากุสันโท,รอยพระบาทของพระฤๅษีที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ฯลฯ

ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะแห่งนี้ เคยเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระฤาษี ๒ องค์ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์สถานที่นิพพานของท่านทั้งสองอยู่บนแท่นหินภายในบริเวณวัดพระสรีระของท่านทั้งสองยังไม่ได้ประชุมเพลิงพระอินทร์ได้อัญเชิญพระสรีระขององค์หนึ่งไปไว้บนยอดเขาตะเมาะส่วนอีกองค์หนึ่งไว้ที่ยอดเขาดอยเกิ้งเพื่อรอพระศรีอริยะเมตไตรยมาประชุมเพลิงด้วยพระองค์เองซึ่งบารมีของท่านทั้งสองยังคุ้มครองสถานที่แห่งนี้ให้ผู้มุ่งหวังปฏิบัติธรรมได้รับความสงบสุข (ชาวบ้านมักเห็นแสงไฟดวงกลมวิ่งไปมาระหว่างยอดเขาทั้งสองเสมอ)

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงพ่อวงศ์ได้พาคณะศิษย์ไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะซึ่งขณะนั้นมีพระชาวต่างประเทศมาจำพรรษาอยู่มาก ท่านได้เล่าให้ฟังว่าครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๖๗ รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ๓๓ ปี

หลวงพ่อวงศ์ได้บูรณะสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เช่น มณฑป ๙ยอดครอบรอยพระพุทธบาท ฯลฯ และหลวงพ่อวงศ์ได้มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีก่อสร้างเป็นเวลา๕ ปี สิ่งก่อสร้างที่เหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกอย่างก็คือกำแพงซึ่งทำจากหินล้วนไม่มีการใช้ปูนแต่อย่างใด กำแพงดังกล่าวเป็นแนวยาว ๒ ชั้นแต่ละชั้นยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร

นอกจากแนวกำแพงหินแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐หลวงพ่อวงศ์ยังได้สร้างมณฑปไว้ด้วย มณฑปนี้เป็นรูปทรงล้านนาและทำจากไม้ทั้งหลังซึ่งในปัจจุบันจะหาช่างทำได้ยากเพราะมณฑปทั้งหลังใช้การเข้าลิ่มไม้ทั้งสิ้น จะใช้น๊อตยึดก็เพียงไม่กี่ตัวท่านเล่าให้ฟังว่า มณฑปนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าของท่านเพราะต้องผจญกับมารหลายประการเนื่องจากเขตวัดพระพุทธบาทตะเมาะขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นทางการจังหวัดเชียงใหม่เข้มงวดเรื่องป่าไม้มากแม้จะนำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นการลำบาก

ในระหว่างที่หลวงพ่อวงศ์มาทำการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะอยู่นั้นท่านต้องพักผ่อนจำวัดที่ห้วยน้ำอุ่น (ปัจจุบันเป็นสถานปฏิบัติธรรม)ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน และห่างจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ๕ กิโลเมตรกิจวัตรประจำวันของท่าน เริ่มด้วยตื่นเวลา ๔ น. สวดมนต์ทำวัตรจนถึงเวลา ๕ น.เดินทางจากห้วยน้ำอุ่นไปวัดพระพุทธบาทตะเมาะ มาฉันภัตตาหารที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะจากนั้นนำคณะศรัทธาก่อสร้าง โดยท่านเป็นผู้ควบคุมเอง ในช่วงเที่ยงวันคณะศรัทธาจะพักรับประทานอาหาร ขณะนั้นท่านฉันมื้อเดียวท่านจึงใช้เวลาที่คณะศรัทธาพักรับประทานอาหารนี้ไปก่อหินทำถนนระหว่างห้วยน้ำอุ่นกับวัดพระพุทธบาทตะเมาะซึ่งคณะศรัทธาอีกคณะหนึ่งได้นำหินมากองเรียงไว้ เมื่อถึงเวลาช่วงบ่ายท่านก็จะกลับมาควบคุมการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะต่อไปจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดินไม่สามารถมองเห็นลายมือแล้วจึงเดินทางกลับไปพักที่ห้วยน้ำอุ่น ระหว่างทางที่เดินทางกลับก็จะช่วยกันยกหินที่คณะศรัทธาอีกคณะหนึ่งเรียงกองไว้ นำมาทำถนนระหว่างทางไปเรื่อยท่านจะกลับถึงห้วยน้ำอุ่นประมาณ ๒๒-๒๓ น.ทุกวัน จากนั้นท่านก็จะสรงน้ำสวดมนต์ไหว้พระ เจริญกรรมฐาน และจำวัดประมาณ ๒๔ น. ตื่นเวลา ๔ น. ท่านใช้เวลา ๓เดือน จึงก่อสร้างแล้วเสร็จนับเป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง

เหตุที่ท่านไม่สามารถจำวัดและให้คณะศรัทธาพักที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้เนื่องจากขณะนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้มงวดในระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปีเกิดมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของบ้านเมืองจนกระทั่งพระปันถูกจับสึกให้นุ่งขาวห่มขาวเป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปีต้องย้ายจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปอยู่ที่วัดพระธาตุห้าดวงและพระพุทธบาทผาหนาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเขตติดต่อกับวัดพระพุทธบาทตะเมาะ เมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้วก็ทำการฉลองกันอย่างรีบเร่งซึ่งเมื่อฉลองเสร็จหลวงพ่อวงศ์ก็ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีไป

หลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้วคณะศรัทธาเคยอาราธนานิมนต์ให้ครูบาอภิชัยขาวปีกลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะแต่ท่านก็ไม่รับนิมนต์ และบอกว่า “อีกหน่อยจะมีตุ๊ใต้มาอยู่กันเป๊อะเรอะ” (พระภาคใต้มาอยู่กันมาก ภาคใต้ตามความหมายของคนเหนือคือนับจากภาคกลางของประเทศไทยลงไป เป็นภาคใต้หมด) ส่วนหลวงพ่อครูบาวงศ์ท่านเคยบอกว่า “ถ้าไม่ได้อยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนก็จะมาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ”

ในอดีตวัดพระพุทธบาทตะเมาะเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากโดยเฉพาะในสมัยที่ครูบาอภิชัยขาวปียังจำพรรษาอยู่ที่วัดมีศรัทธาญาติโยมทั้งชาวไทยและชาวเขากระเหรี่ยงมาร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนมากมีการก่อวิหาร ที่พักของพระสงฆ์ และเสนาสนะอื่นๆภายในวัด นอกจากนี้ครูบาอภิชัยขาวปียังได้รับนิมนต์ไปก่อสร้างสาธารณประโยชน์ที่อื่นอีกมากต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ครูบาอภิชัยขาวปีไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอื่นซึ่งภายหลังจากที่ท่านจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปแล้ว วัดก็ค่อยๆเสื่อมโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้างในที่สุด

เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๕ พระอาจารย์นพดล สิริวฑฺฒโนได้ย้ายจากวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม มาจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะซึ่งในช่วงแรกท่านได้สร้างเสนาสนะเท่าที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติธรรมต่อมาจึงสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงครัว หอระฆัง แท็งก์น้ำศาลาปฏิบัติธรรมของญาติโยม และเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๑จึงสร้างพระเจดีย์สามครูบาขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ครูบาศรีวิชัย, ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

 

Share this post

scroll to top