ประวัติดอยเต่า

อำเภอดอยเต่า  จังหวัดเชียงใหม่  อยู่ทางทิศเหนือตอนบนของประเทศไทย ที่ว่าการอำเภอดอยเต่า ตั้งอยู่ที่ บ้านแปลง 5 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเดื่อ บนถนนสายฮอด-แม่ตืน (ทางหลวงหมายเลข 1103กิโลเมตรที่ 33)  ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้  125 กิโลเมตร ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 90 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 108) และตามถนนฮอด – แม่ตืน (ทางหลวงหมายเลข 1103)

พื้นที่อำเภอดอยเต่า เดิมอยู่ในความปกครองของอำเภอฮอด ประกอบด้วย 4 ตำบล คือตำบลบ้านแอ่น ตำบลท่าเดื่อ ตำบลมืดกา และตำบลดอยเต่า การคมนาคมติดต่อกับอำเภอฮอด แต่ก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากจะเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งยังมีไม่มาก เช่นปัจจุบัน ต้องนั่งรถจากตำบลดอยเต่าไปบ้านแม่ตืน อำเภอลี้จังหวัดลำพูน เข้าไปในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้อนกลับมายังอำเภอฮอด ทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก หากเดินทางด้วยทางเท้า ต้องค้างแรมระหว่างทาง การติดต่อประสานงานระหว่างอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นปัญหาด้านการปกครอง ไม่สามารถที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎรได้อย่างทั่วถึง สภาพของชุมชนหมู่บ้านอยู่กระจัดกระจายตามสองฝั่งแม่น้ำปิง

หลังจากเขื่อนภูมิพลในเขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก สร้างเสร็จ เมื่อกักเก็บน้ำทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงขึ้น กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรในเขตตำบลบ้านแอ่น ตำบลท่าเดื่อ ตำบลมืดกา ถูกน้ำท่วม กรมประชาสงเคราะห์ได้ดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เขื่อนภูมิพล ขึ้นไปปี พ.ศ. 2506 ช่วยเหลือราษฎรประมาณ 2,400 ครอบครัว

ทางราชการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ 4ตำบลดังกล่าวอยู่ห่างไกลอำเภอฮอด มีชุมชนหนาแน่น เพื่อสะดวกในด้านการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอดอยเต่า ให้อยู่ในความปกครองของอำเภอฮอด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2515

ต่อมา กิ่งอำเภอดอยเต่า มีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณูปโภค และการคมนาคม ทำให้กิ่งอำเภอดอยเต่าเจริญขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอดอยเต่า ขึ้นเป็นอำเภอดอยเต่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2522 การจัดตั้งอำเภอได้รวมเอาตำบลนาคอเรือเข้าไปด้วย ดังนั้น อำเภอดอยเต่าจึงมี 5 ตำบล คือ ตำบลบ้านแอ่น ตำบลมืดกา

ตำบลนาคอเรือ ตำบลท่าเดื่อ และตำบลดอยเต่า

ช่วงปี พ.ศ. 2525-2526 มีการปรับปรุงแบบการปกครองของอำเภอดอยเต่า มีพระราชกฤษฎีกาโอนตำบลนาคอเรือไปขึ้นกับอำเภอฮอดตามเดิม เพราะสะดวกในการคมนาคมและตั้งตำบลโปงทุ่ง แยกจากตำบลดอยเต่า ตั้งตำบลบงตัน แยกจากตำบลท่าเดื่อ ปัจจุบันอำเภอดอยเต่า มีเขตการปกครองทั้งหมด 6ตำบล 43 หมู่บ้าน

 

คำขวัญอำเภอดอยเต่า

“มะนาวลูกใหญ่   ลำไยเนื้อหนา     ดอยเกิ้งสูงสง่า   ชิมรสปลาดอยเต่า”

 

ขนาดที่ตั้งและอาณาเขตที่ตั้ง

          ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่   ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่   125 กิโลเมตร  ตามทางหลวงหมายเลข  108  ถนนเชียงใหม่ – ฮอด และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1103ถนนฮอด-แม่ตืน มีพื้นที่ประมาณ 803.918 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ502,448 ไร่ เป็นพื้นที่ภูเขา 659.2 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมด

อาณาเขต

– ทิศเหนือ            ติดต่อกับตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

– ทิศใต้         ติดต่อกับตำบลนาทราย และตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

– ทิศตะวันออก    ติดต่อกับตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

– ทิศตะวันตก       ติดต่อกับตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

ลักษณะภูมิประเทศ

           สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันประกอบด้วย  หุบเขาและลำห้วยมีภูเขาสูงโดยรอบ  มีรูปทรงคล้ายอ่างเก็บน้ำเมื่อฝนตกน้ำตามลำห้วยจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงอย่างรวดเร็ว และถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากจะมีน้ำกักขังเป็นทะเลสาบดอยเต่า สภาพดินทั่วไปเป็นดินปนทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้สภาพป่าเป็นป่าโปร่ง โดยอาจแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1ช่วงใจกลาง เดิมเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพล      จึงเกิดน้ำท่วม ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทะเลสาบซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมของ กฟผ. พื้นที่ประมาณ 58ตารางกิโลเมตร หรือ 36.250 ไร่ มีระดับความลาดชันต่ำกว่า 260 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2507

ลักษณะที่ 2 ส่วนริมฝั่งด้านตะวันออกเขตทะเลสาบ เป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันความลาดชันตั้งแต่ 260-350 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนและสถานที่ราชการต่าง ๆ สำหรับริมฝั่งด้านตะวันตกจะมีหมู่บ้านเพียง 1 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองบัวคำ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าเดื่อซึ่งในปัจจุบันราษฎรได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่บริเวณด้านตะวันออก เช่นเดียวกันแหล่งชุมชนอื่น ๆ แต่ยังคงมีราษฎรส่วนหนึ่งอยู่อาศัยในที่บริเวณเดิมเป็นจำนวน 42หลังคาเรือน

ลักษณะที่ 3 ส่วนบนขอบอ่าง มีระดับสูงกว่า 350เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่โดยรอบกว้างใหญ่มีถึงร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมดหรือประมาณ659.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 412,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ไม่เหมาะต่อการเกษตรภูเขาสูง ได้แก่ ดอยอุทา ดอยเลี่ยม ดอยเปางาม ดอยจำปี ดอยยาว ดอยผาเต้น ดอยผารา เป็นต้น

 

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปของอำเภอดอยเต่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24.85 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนจะร้อนจัดและมีพายุพัดรุนแรง เกิดวาตภัยเป็นประจำทุกปี ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด มีหมอกปกคลุม  พื้นที่อุณหภูมิเคยต่ำสุดถึง 4 องศาเซลเซียสส่วนฤดูร้อนจะร้อนจัด อุณหภูมิประมาณ 41.2 องศาเซลเซียส แห้งแล้งจัดในฤดูร้อนและฤดูหนาว

ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีจากรายงานการจดบันทึกสถิติของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล     ปี 2517-2538 จะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่า  900  มิลลิลิตร  โดยมีฝนตกสูงสุดในปี พ.ศ. 2518 วัดได้ 1,568.5 มิลลิเมตรและต่ำสุดในปี พ.ศ.2519 วัดได้ 675 มิลลิลิตร ส่วนใหญ่ฝนจะตกซุกในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน ของทุกปี

การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยเทศบาลตำบล 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลท่าเดื่อ จัดตั้งขึ้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม2542 มีเนื้อที่ประมาณ 12.5 ตารางกิโลเมตร อยู่เขตตำบลท่าเดื่อ 3 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1,2 และหมู่ที่ 3 และตำบลมืดกา 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1,2 และหมู่ที่ 3 ตามลำดับ

องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน5 แห่ง  ดังนี้

1. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแอ่น

2. องค์การบริหารส่วนตำบลบงตัน

3. องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเดื่อ

4. องค์การบริหารส่วนตำบลดอยเต่า

5. องค์การบริหารส่วนตำบลโปงทุ่ง

การเมืองในดอยเต่า

อำเภอดอยเต่าอยู่ในเขตเลือกตั้งที่  8  ของจังหวัดเชียงใหม่  ประชาชนมีความสนใจในทางการเมืองมากพอสมควร จะเห็นได้จากการมีการรวมพลคนเสื้อแดงถึงสองครั้งในรอบปี 2552   คนในพื้นที่ส่วนมากมีความคิดไปตามกระแสการเมืองส่วนกลางที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการเมืองระดับท้องถิ่นอำเภอดอยเต่ามีสมาชิกสภาท้องถิ่นตามเขตการปกครอง ดังนี้

1. สมาชิกสภาจังหวัด                                                        จำนวน   1 คน

2. สมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าเดื่อ                                   จำนวน  12  คน

3. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล                       จำนวน  74  คน

ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายใน

อำเภอดอยเต่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเตี้ยและเนินเขาสลับกัน มีทรัพยากร ธรรมชาติมาก สถานการณ์ด้านการก่อการร้ายไม่มีปรากฏ จะมีแต่เพียงมิจฉาชีพ และ ยาเสพติด

อำเภอดอยเต่า มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักของอำเภอ คือ

– สถานีตำรวจภูธรอำเภอดอยเต่า

– สถานีตำรวจภูธรตำบลแม่กา

 

รายชื่อส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ส่วนราชการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอดอยเต่า มี 2 ประเภท คือ ส่วนราชการส่วนภูมิภาคที่สังกัดอำเภอ และส่วนราชการที่สังกัดส่วนกลาง ดังนี้

(1) ส่วนราชการส่วนภูมิภาคที่สังกัดอำเภอโดยตรงมีดังนี้

1. ที่ทำการปกครองอำเภอ

2. พัฒนาชุมชน

3. สัสดีอำเภอ

4. ที่ดินอำเภอ

5. สาธารณสุขอำเภอ

6. เกษตรอำเภอ

(2) ส่วนราชการที่สังกัดส่วนกลาง (นอกสังกัดอำเภอ) ที่มีสำนักงานอยู่ในเขตท้องที่อำเภอดอยเต่า มีดังนี้

1. นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่

2. หมวดการทางดอยเต่า แขวงการเชียงใหม่

3. หน่วยป้องกันปราบปรามประมงน้ำจืด เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

4. หน่วยป้องกันและรักษาป่า  ที่ ชม 35 (ดอยเต่า)

5. โรงพยาบาลดอยเต่า

6. โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม

7. ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน

8. สรรพากรพื้นที่สาขาดอยเต่า

9. กลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอดอยเต่า

10. วัฒนธรรมอำเภอดอยเต่า

11. โรงเรียนประถมศึกษา 26 โรงเรียน

(3) รัฐวิสาหกิจ ที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยเต่า มีดังนี้

1. หน่วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

2. ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดอยเต่า

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฮอด หน่วยดอยเต่า

4. ที่ทำการชุมสายโทรศัพท์อำเภอดอยเต่า

5. ธนาคารออมสินสาขาดอยเต่า

(4) ภาคเอกชน

1. สหกรณ์การเกษตรดอยเต่า จำกัด

2. สหกรณ์การเกษตรนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จำกัด

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top