คนดอยเต่ามาจากไหน?

๑.๑ คนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากลัวะจริงหรือ?

คนดอยเต่าสันนิษฐานว่าคนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายมาจากคน ๓ เผ่า คือ ลัวะ ตะโข่ คะฉิน” เป็นข้อความที่เขียนในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูปัญญาพรหมคุณ (พระครูคำปวน) อดีตเจ้าอาวาสวัดวังหม้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้านในหนังสือมีชื่อเรื่องว่า ประวัติเมืองดอยเต่าในอดีต หน้า ๓ เขียนโดย ผอ.วิทยา พัฒนเมธาดาและบนเวปไซต์ของท่าน

        ถือเป็นข้อกังขาของคนดอยเต่าว่า คนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากเผ่าลัวะจริงๆหรือ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมีข้อมูลหลักฐานอะไรมาใช้อ้างอิงหรือไม่

        จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวทำให้คนดอยเต่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บางคนเชื่อว่าจริง บางคนไม่เชื่อ บางคนไม่แน่ใจว่าจะเชื่อหรือไม่ ในเมื่อคนดอยเต่าพูดภาษาพื้นเมือง เขียนภาษาด้วยอักษรพื้นเมืองล้านนา พูดภาษาลัวะไม่เป็นเลยสักคำ  ไม่มีภาษาลัวะหลงเหลือไว้เป็นภาษาถิ่นของคนดอยเต่าเลย  ถึงแม้ว่าคนดอยเต่าจะมีสำเนียงการพูดและภาษาถิ่นที่แตกต่างจากอำเภออื่น ๆ  ก็ตาม

        จากการอ่าน  ดอยเต่าในอดีต ของ  ผอ. วิทยา  จะเห็นว่าประเพณีวัฒนธรรม  คติความเชื่อหลาย ๆ  อย่างของชนเผ่าลัวะจะแตกต่างจากคนดอยเต่าอย่างชัดเจน ใคร่ขอยกเป็นตัวอย่าง   เช่น
๑.   “โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชายหรือบ้านที่ฝ่ายชายปลูกใหม่   โดยถือบรรพบุรุษฝ่ายพ่อ บุตรที่เกิดมาอยู่ในสายเครือญาติของฝ่ายพ่อ”  แต่คนดอยเต่าที่นับถือผีปู่ย่า  จะถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่
๒.”ลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว”  แต่คนดอยเต่านิยมบริโภคข้าวเหนียวมากกว่า จึงมีคำกล่าวเป็นคำคล้องจองว่า  ลัวะเยี๊ยะไฮ่  ไตยเยี๊ยะนา
เนื่องจากการทำไร่ข้าวมักจะปลูกข้าวจ้าว  ส่วนนาของคนดอยเต่าจะปลูกแต่ข้าวเหนียว
๓.”การฆ่าสัตว์เลี้ยงผีลัวะจะจัดส่วนต่างๆ ของสัตว์ให้ผีอย่างละน้อย สัตว์ที่ใช้เซ่นไหว้ผี    มี   ไก่ หมู วัว ควาย และ หมา”  ส่วนคนดอยเต่ามีเพียงไก่และหมูเท่านั้น  ลัวะจะมีการเลี้ยงผีละมังโดยเลี้ยงควายเป็นตัว  และเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ  ซึ่งคนดอยเต่าจะไม่มีการเลี้ยงทั้งผีละมังและผีปู่แสะย่าแสะ  แต่จะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า สัตว์ที่ใช้เลี้ยงอย่างมากก็คือหมูหรือหัวหมูเท่านั้น
            นี่คือตัวอย่างความแตกต่างระหว่างคนดอยเต่ากับคนลัวะ  ที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการแต่งตัว  การสวมใส่เสื้อผ้า  ภาษาพูด  ภาษาเขียน ล้วนเห็นว่าแตกต่างกันมาก ๆ  คนดอยเต่าจึงสงสัยข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า คนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายจากลัวะจริง ๆ หรือ
            ท่าน  ผอ.วิทยาคงจะสันนิษฐานได้จากข้อมูลที่ได้คือ  การนับถือผีของคนดอยเต่า  บางครอบครัว  บางหมู่บ้าน  เช่น  บ้านแอ่น  บ้านวังหม้อ มีการนับถือผีลัวะ  เพราะคนดอยเต่ามีการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่การเลี้ยงผีปู่ย่าของคนดอยเต่าได้แยกพิธีการเลี้ยงได้  ๒  อย่างคือ  เลี้ยงผีปู่ย่าแบบคนไต (คนเมือง) และเลี้ยงผีแบบลัวะ หรือเลี้ยงผีลัวะ  เมื่อ  ผอ. วิทยา ได้ข้อมูลว่าคนดอยเต่าเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นผีลัวะ  จึงสันนิษฐานว่า  คนดอยเต่าได้สืบเชื้อสายมาจากลัวะ    ลัวะเป็นบรรพบุรุษของคนดอยเต่า     ความจริงการเลี้ยงผีปู่ย่าของคนดอยเต่า  ไม่ได้เลี้ยงผีบรรพบุรุษดั่งเช่นคนไทยเชื้อสายจริง  ซึ่งทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษให้มาดลบันดาลให้มั่งมีศรีสุข  ร่ำรวยเงินทอง  หรือเลี้ยงผีเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณของบรรพบุรุษ  แต่คนดอยเต่าเลี้ยงผีปู่ย่า   เพื่อไม่ให้ผีปู่ย่ามาทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย  การนับถือผีปู่ย่าของคนดอยเต่า เป็นกุศโลบายของคนโบราณเพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลานไม่ให้ออกนอกรีตนอกรอย  เพราะการกระทำบางอย่างที่ไม่ดี  สังคมไม่ยอมรับ  หรือผิดจารีตประเพณีอันดีงาม  จะทำให้ผีปู่ย่าโกรธ  ไม่พอใจ  เช่น  หนุ่มสาวจับมือถือแขนกัน ลักลอบได้เสียกัน หรือพี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกัน    ผีปู่ย่าจะไม่พอใจ  ผีปู่จะทำให้เกิดเพทภัยต่าง ๆ  แก่ครอบครัว เช่น อาจทำให้คนในครอบครัวไม่สบายถึงกับ ล้มหมอนนอนเสื่อ สามวันดีสี่วันไข้  รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ต้องทำพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า  เพื่อขอขมาลาโทษที่ได้ทำผิดจารีตประเพณี  เมื่อเลี้ยงผีปู่ย่าแล้วอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทุเลาเบาบางลงตามลำดับ  เป็นต้น
        จะเห็นได้ว่า  การเลี้ยงผีปู่ย่า  หรือเลี้ยงผีลัวะของคนดอยเต่า  เป็นพิธีกรรมเพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในสังคมเท่านั้น  ไม่ได้เลี้ยงผีปู่ย่าเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาดั่งเช่นคนจีน  จึงสันนิษฐานไม่ได้ว่าการที่คนดอยเต่าเลี้ยงผีลัวะ  บรรพบุรุษจะเป็นลัวะเสมอไป
        จากการถามคนดอยเต่าที่นับถือผีลัวะ ว่า  พูดภาษาลัวะได้หรือไม่  สืบเชื้อสายมาจากลัวะหรือไม่  คำตอบที่ได้ก็คือว่า  ไม่  เขาเชื่อว่าเขาเป็นคนไต  คนพื้นเมือง  เพียงแต่นับถือผีปู่ย่า มีพิธีกรรมการเลี้ยงผีแบบลัวะเท่านั้น  มีประเพณีที่เหมือนลัวะ  เช่น  การฝังศพ  ไม่นิยมนำศพไปเผา  มีเตาไฟหย่อนนอกเหนือจากนี้ก็เหมือนคนไต  หรือคนดอยเต่าทั่ว ๆ ไป
        หรือว่าท่าน  ผอ. วิทยา  จะสันนิษฐานว่า  การที่คนลัวะดอยเต่าในอดีตจะกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบันโดยใช้เวลาหลายร้อยปี  หลายพันปีมาแล้ว   ที่ได้ค่อย ๆ  พัฒนาการทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบัน
        ยิ่งเป็นข้อสันนิษฐานแบบนี้ยิ่งไม่เห็นด้วย  เป็นไม่ได้อย่างแน่นอน  เพราะย้อนหลังไปเมื่อ ๔๐-๕๐  ปีที่ผ่านมา  ความเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่มชนต่าง ๆ  จะเห็นได้ชัดเจนกว่าเวลานี้มาก  ไม่ว่าภาษาพูด  จารีตประเพณี  คติความเชื่อ  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละเผ่าพันธุ์จะแตกต่างกันมาก  การยึดในตัวตนของแต่ละชนเผ่าจะมีมาก  การแต่งงานข้ามเผ่าจะมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย  ผิดกับปัจจุบันนี้การไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น  การติดต่อสื่อสารกันได้ดียิ่งขึ้น  มีการศึกษาเรียนรู้ด้วยกัน  การที่ชนเผ่าใดเผ่าหนึ่งจะถูกกลืน  หรือมีพัฒนาการให้เท่าเทียมกับชนเผ่าอื่นที่เจริญกว่าย่อมเป็นไปได้สูงมาก  แต่นี่คนดอยเต่ามีประเพณีวัฒนธรรม  มีภาษาพูด  ภาษาเขียนมานานเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว  ย่อมเป็นไม่ได้ว่า   ลัวะจะถูกกลืน  จนลืมภาษาดั้งเดิมของตนเอง  จนกลายเป็นคนดอยเต่าเมื่อร้อย ๆ  ปีที่ผ่านมา  เนื่องจากเวลานั้น ยังไม่มีสื่อวิทยุ  โทรทัศน์  อินเทอร์เน็ต  หนังสือสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ยังไม่มี  การที่คนลัวะจะถูกกลืนจนกลายเป็นคนดอยเต่าในปัจจุบันย่อมเป็นไปไม่ได้  ยกตัวอย่างคนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทย  อายุ  ๘๐ ปี  ยังพูดไทยไม่ชัด  ยังคงใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันอยู่  เช่น  เตี่ย  อาหมวย  ลื้อ  อั๊วะ ไอ้ตี๋  เจี๊ยะ    ถ้าคนดอยเต่าสืบเชื้อสายมาจากลัวะจริง  น่าจะมีภาษาพื้น ๆ  เช่น  คำว่า   พ่อ  แม่  พี่  น้อง  หลงเหลืออยู่บ้าง  แต่นี่ไม่มีเลย  จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนดอยเต่าจะสืบเชื้อสายมาจากลัวะ

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top