ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง(ต่อ)

ตำนานพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง (คัดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในกัณฑ์ที่ ๘-๙-๑๑)

ครั้งเมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ได้เสด็จมาทำนายพระธาตุในแคว้นสุวรรณภูมิตามหมู่บ้านนิคมต่างๆ ขณะนั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศตะวันตกไกลประมาณ ๑๐,๐๐๐ วา ก็ทรงบรรลุถึงแม่น้ำระมิงค์ (แม่ปิง) ก็เสด็จขึ้นสู่ดอยผาเรือในเชิงเขาที่นั้น แล้วตรัสถามพระเจ้าอโศกราชว่า “ดูรามหาราช ผาเรือนี้เป็นรูปเรือจริงหรือ?” พระเจ้าอโศกราชทรงกราบทูลว่า “ผาเรือนี้เป็นรูปเรือจริง” พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “เป็นเรือของใครนำมาไว้ที่นี้หรือ”

พระเจ้าอโศกราชก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ประเสริฐ แต่เมื่อปฐมกัปป์เริ่มขึ้นในครั้งนั้น มีพระยาองค์หนึ่งชื่อว่า “สิงสุ พายเรือมาถึงที่นี้” พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “มาจากทิศใดหรือ” พระเจ้าอโศกราชก็ทรงเล่าเรื่องต่อไปว่า “พระยาสิงสุองค์นั้นพายเรือมาจากทิศตะวันตก พอมาถึงที่นี้น้ำก็บก (น้ำแห้ง) เรือเลยเกยตื้น พระยาองค์นั้นก็ไม่สามารถที่จะพายเรือไปได้ เลยทิ้งไว้ที่นี่ แล้วจึงเสด็จหนีไปทางบกและถึงแก่อนิจกรรม”  พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “พระยาสิงสุมีฤทธิ์เดชานุภาพจริงหรือ?” พระเจ้าอโศกกราบทูลว่า “พระยาสิงสุมีฤทธิ์แท้แล”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเช่นนี้แล้ว ก็ทรงเล็งดูอนาคตด้วยอนาคตังสญาณ ก็ทรงทราบว่า “พระยาสิงสุองค์นั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต” จึงทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือผาเรือนี้ เพื่อให้เป็นบุญแก่พระยาสิงสุ แล้วก็ประทับนั่งเหนือแท่นทองคำท่ามกลางเรือนั้น (ดอยผาเรือ อยู่บริเวณดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่)

อุบัตินิทานเหตุการณ์ที่พระเจ้าสิงสุทรงนำเรือมาไว้ที่นี้ ผู้มีปัญญาพึงรู้ต่อไปนี้เถิด เมื่อถึงปฐมกัปป์เริ่มก่อตั้งนั้น ในเวลานั้นยังไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติมาในโลกแม้แต่พระองค์เดียว ในเวลานั้นน้ำมหาสมุทรก็เหือดแห้งลงไปทีละน้อย จนเชิงเขาแห่งนั้นโผล่พ้นน้ำมหาสมุทรออกมา  ตอนนั้นน้ำนั้นลดพ้นมาถึงเมืองอโยธิยาทวารวดี พระเจ้าสิงสุองค์นั้นประสูติในเมืองม่าน (พม่า) คือเมืองอังวะ ทรงมีฤทธิ์เดชานุภาพมาก

วันหนึ่งพระเจ้าสิงสุทรงสำราญพระทัย จึงรับสั่งให้สร้างเรือทองคำขึ้นลำหนึ่งกว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๐ วา ถ่อและพายก็ทำด้วยทองคำ เมื่อสร้างเรือทองคำเสร็จ จึงนำแท่นทองคำตั้งไว้ในเรือ (ฉบับของวัดหัวขัวและวัดต้นแงะ อำเภอเมือง ลำพูน กล่าวว่า “เอาแท่นทองคำแท่นหนึ่งกว้าง ๖ ศอก หนา ๑ ศอก มาตั้งไว้ในเรือ) แล้วถ่อไปในน้ำมหาสมุทรแต่ถ่อไม่ถึง จึงพายไปแล่นไปในน้ำตลอดวัน พายมาถึงดอยลูกใด ค่ำแล้วก็นอนเสียที่นั้น ตื่นขึ้นก็พายต่อมาตามลำดับ

จนกระทั่งถึงเชิงเขาลูกนี้ ก็นอนที่นี้ ๑ คืน พอตื่นเช้าขึ้นมาน้ำแห้งเรือติดอยู่บนบก ยังมีหว่างภูเขาแห่งหนึ่งกว้าง ๑๒ วา พระองค์ก็ลากเรือตกลงไปในระหว่างภูเขานั้น จะเอาออกก็ออกไม่ได้ จึงลงไปเหหัวไปทางทิศตะวันตกแล้วตรัสว่า “ผู้ไม่พิจารณาไม่รู้ว่าเป็นเรือ ผู้ใดมีบุญจึงจะพบ แล้วก็เสด็จหนีไปทางบก ไปถึงเมืองชะแลมคำก็ถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น ไม่ทันกลับไปถึงเมืองม่าน นับตั้งแต่นั้นมาน้ำมหาสมุทรก็แห้งลงไปปีละ ๑ วา ๒ วา ตลอดนานเข้าที่นี้ก็กลายเป็นเมืองแห่งหนึ่ง เรือทองคำลำนั้นก็เลยกลายเป็นผาเรือ จมอยู่ระหว่างภูเขาที่นั้น

เพราะเหตุใดน้ำในมหาสมุทรจึงแห้งไป ตามที่ได้รู้มาว่า “สะดือน้ำมหาสมุทรเป็นรูกว้างได้ ๑๐๐ โยชน์ น้ำปั่นเป็นเกลียวลงไปถูกเปลวไฟนรกเป็นอันดำคล้ำยิ่งนัก ประดุจน้ำมันหมูหยดใส่ไฟ  หรือไม่ก็เหมือนน้ำหยดลงสู่ทั้งเหล็กร้อนเสียงดังฉ่าๆ นั้นแหละ ยังมีปูตัวหนึ่งใหญ่กว้างได้ ๕๐๐ โยชน์ มันมีวิบากเกิดมาคู่กับโลกจนตราบสิ้นกัปป์ ปูตัวนั้นก็ใช้ลำตัวมันปิดรูสะดือทะเลไว้ เมื่อไฟนรกพุ่งมาถึงงอกของมัน มันรู้สึกร้อนก็เผยอตัวขึ้น น้ำมหาสมุทรก็พุ่งเป็นเกลียวลงในรูสะดือทะเลไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำมหาสมุทรก็แห้งลดลงไปเล็กน้อย เมื่อเปลวไฟนรกไม่พุ่งขึ้นมาถูกตัวของมัน มันก็ใช้อกปิดรูสะดือทะเลไว้ เหตุนั้นน้ำมหาสมุทรจึงขึ้นมานิดหน่อย เมื่อใดปูตัวนั้นร้อนมันยกอกมันขึ้น น้ำมหาสมุทรก็ปั่นเกลี่ยวลงไป เหตุนั้นน้ำมหาสมุทรเลยแห้งไปทีละเล็กน้อย จนเป็นเหตุให้พระยาสิงสุนำเรือมาทิ้งไว้เชิงเขา และน้ำมหาสมุทรแห้งไปจึงทิ้งเรือทองคำไว้ที่ระหว่างก้อนหินนั้น เป็นเวลานานยิ่งจนเรือทองคำเป็นผาเรือไปอยู่ที่เชิงเขาทองคำแห่งนี้ ได้ชื่อว่า “ดอยผาคำ”

ถึงกาลเมื่อพระพุทธเจ้าโคตรมะของเราเสด็จอุบัติมาเป็นครูแก่โลก ที่นี้เป็นเมืองลัวะ ลัวะผู้หนึ่งเป็นขุนชื่อว่า “ขุนแสนทอง” เป็นใหญ่แก่ลัวะทั้งหลายในอาณารัฐที่นี้ เป็นมิตรกับโยคีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในเมืองผาสี มาสร้างสมบัติสิ่งของให้แก่มัน โยคีรูปนี้มีร่างกายสูงได้ ๘ ศอก มีกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก เหตุว่ามันได้หล่อกินน้ำบ้า (ไม่ทราบว่าน้ำอะไร บางฉบับว่า “น้ำบ้อป่า, น้ำบายา) เกิดมาตั้งแต่ศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันธะ

เมื่อพระพุทธเจ้ากกุสันธะ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วก็กินน้ำบ้าห้าร้อยนั้นอีก (บางฉบับว่า น้ำบ้าและยาห้าร้อย) เลยมีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เสด็จอุบัติมาเป็นครูแก่โลกและเสด็จนิพพานไป มันก็กินน้ำบ้าห้าร้อยน้ำนั้นอีก ก็มีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จมาเป็นครูแก่โลก และเสด็จนิพพานไป มันก็กินน้ำบ้ายาห้าร้อยนั้นอีกเลยมีอายุยืนยาวมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโคตมะของเราทั้งหลาย ขุนลัวะแสนทองผูกมิตรกับโยคีรูปนี้ เพื่อให้โยคีมาสร้างสมบัติสิ่งของให้แก่ตน

ตั้งแต่หัวเรือคำนี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐ วา มีถ้ำแห่งหนึ่งงามยิ่งนัก เป็นรูโค้งเข้าไปสู่ท้องดอยกว้างเท่าวิหารใหญ่หลังหนึ่ง โยคีรูปนี้อยู่ที่ปากถ้ำ จากนั้นไปยังมีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่า “จุนทเถร” (บางฉบับว่า จันทเถระ, จุรันทเถระ) เป็นลูกชาวเมืองกุจฉินารา ท่านมาอยู่วิเวกภาวนาในถ้ำที่นั้น ใช้เวลาว่างจารคัมภีร์ที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือพระไตรปิฎก ได้ผงใบลานเต็มกอบมือ โยคีรูปนั้นสร้างหีบทองคำ ๗ ใบ ใส่คัมภีร์ไว้ในที่สุดของถ้ำ ทำเป็น ๓ ชั้น ราบเรียบเสมอเข้าไป ๓ วา สูงขึ้นไปอีก ๓ วา กลับราบเรียบเข้าไปอีก ๓ วา ไปตันเสียที่นั้น

ชั้นล่างนั้นเป็นที่อยู่แห่งพระจุนทเถรภาวนา ชั้นกลางเป็นที่อยู่แห่งโยคี และโยคีสร้างเจดีย์ทองคำสูง ๗ ศอก นับแต่เจดีย์ทองคำเข้าไป ๓ ศอก สร้างพระพุทธรูปทองคำไว้ ๓ องค์ แต่ละองค์สูง ๑ คืบ ต่อจากหลังพระพุทธรูปทองคำเข้าไป ๓ ศอก สร้างพระพุทธรูปไสยาสน์องค์หนึ่งยาว ๓ ศอก ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ชั้นบนสร้างเป็นแท่นทองคำ ๗ แท่น เพื่อวางหีบพระคัมภีร์ไตรปิฎกทั้ง ๗ หีบ ที่พระจุนทเถระได้จารไว้ ต่อจากนั้นก็หล่อฆ้องทองคำไว้ ๑ ใบ ปากกว้าง ๒ วา (บางฉบับว่า ๔ วา) สิ้นทองคำหนึ่งล้านหนึ่งหมื่น แขวนไว้ที่ประตูตรงไปถึงพระเจดีย์ เทวดาถึง ๒ องค์ จึงจะตีฆ้องนี้ดัง ถ้าใช้คนตีต้องให้คนถึง ๑๐ คน จึงจะตีดัง เทวดายังตีบูชาพระพุทธเจ้า ทุกวันพระเที่ยงคืนจะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงแมลงภู่บินอยู่ในถ้ำ

เมื่อท่านจุนทเถระยังมีชีวิตอยู่ ภิกษุทั้งหลายก็ดี นักปราชญ์ทั้งหลายก็ดี ประสงค์จะศึกษาเล่าเรียน ก็มาขอยืมคัมภีร์หนังสือของท่านจุนทเถระเอาไปศึกษาเล่าเรียน ยึดเป็นแบบฉบับหลักฐานได้ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์เขียนเป็นที่ถูกต้องยิ่งนัก เมื่อท่านจุนทเถระจะนิพพาน ท่านได้เก็บรวบรวมใส่หีบทองคำไว้เหมือนเดิม แล้วจึงนิพพานไปในถ้ำแห่งนั้น

ต่อจากนั้นขุนแสนทองก็นิมนต์โยคีรูปนั้นอยู่เฝ้ารักษาที่ผาเรือที่นั้น (บางฉบับว่า ให้ท่านเจ้าสี่ตนมารักษา) กาลครั้งนั้น พระโยคีก็ออกจากถ้ำเข้ามาอภิวาทกราบไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ดูราโยคี ท่านมาอยู่ที่นี้ด้วยเหตุอะไร?” โยคีกราบทูลว่า “พระอรหันต์องค์ที่เป็นลูกศิษย์ของพระองค์ มีชื่อจุนทเถระท่านมาอยู่วิเวกที่ถ้ำหิน ท่านมาจารคัมภีร์ธรรมของพระองค์ไว้ทั้ง ๓ ปิฎก ข้าพระองค์มาสร้างเจดีย์ทองคำสำหรับใส่คัมภีร์ไว้ที่นี้

ท่านจุนทเถระนิพพานไปก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึงที่นี้สักเล็กน้อย ส่วนข้าพระองค์ได้สร้างพระเจดีย์ทองคำสูง ๗ ศอก พระพุทธรูปทองคำ ๓ องค์ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๓ ศอก และสร้างฆ้องทองคำ ๑ ใบ กว้าง ๒ วา ข้าพระองค์ได้สร้างไว้ที่นี่แล” พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนาว่า “สาธุ ดีนักแล การที่ท่านกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นบุญแก่ท่านเป็นอันมาก อานิสงส์ก็มีแก่ท่านเป็นอันมากหาที่สุดมิได้”

เมื่อนั้นลัวะทั้งหลายมีขุนแสนทองเป็นประธาน ก็พากันมากราบไหว้พระพุทธเจ้า และพระพุทธองค์ก็เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงเหยียบรอยพระบาทเบื้องขวาไว้ที่แท่นผาคำ ที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งในเรือทองคำนั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จขึ้นสู่ดอยผาเรือ พระอินทร์ก็ถือฉัตรกั้นพระพุทธองค์ ขันทองเห็นเช่นนั้นก็บังเกิดความโสมนัสรำพึงว่า “ตั้งแต่เราเกิดมาก็พึ่งมาพบเห็นพระพุทธเจ้าในวันนี้” รำพึงเช่นนี้แล้ว จึงวิ่งไปเอาเกิ้งคำ (สัปทนทองคำ) มากั้นให้พระพุทธองค์ แต่ไม่ทันจึงวิ่งตามพระพุทธเจ้ามาทันที่ยอดดอย พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งเหนือยอดดอยแห่งหนึ่ง ขุนลัวะแสนทองก็กั้นสัปทนทองคำ พระพุทธองค์อยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพระอินทร์ทรงถือฉัตรกั้นพระพุทธองค์อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีพระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราชนั่งอยู่เป็นบริวาร

พระเจ้าอโศกราชทอดพระเนตรดูทิศานุทิศ แล้วทรงเห็นสถานที่นั้นงดงามยิ่ง จึงกราบทูลขอพระเกศาธาตุซึ่งพระพุทธเจ้า “ข้าแด่พระพุทธเจ้า สถานที่นี้จักงามยิ่งนัก สมควรตั้งพระศาสนาที่หนึ่งแล” พระพุทธองค์ทรงรำพึงดูสถานที่นั้น ทรงเห็นว่าเป็นครึ่งบ้านครึ่งเมือง ศาสนาตถาคตก็พอจักรุ่งเรืองได้ คนทั้งหลายจะชวนกันมาไหว้นบสักการบูชาเป็นอันมาก แล้วก็ทรงลูบพระอุตมังคศีรษะ ทรงได้พระเกศาธาตุมาหนึ่งองค์ ทรงมอบให้แก่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศก จึงตักกระบอกไม้รวกทำเป็นผอบใส่พระเกศาธาตุ แล้วเอาใส่ในผอบทองคำใหญ่ ๗ กำมือ

ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “ในบริเวณที่นี้มีถ้ำอยู่ที่ไหนบ้าง พระเจ้าข้า?” พระพุทธองค์ตรัสว่า “มีอยู่ในภูเขาลูกนี้ ศิษย์ตถาคตชื่อ “จุนทเถระ” เป็นลูกชาวเมืองกุจฉินารา มาอยู่วิเวกที่ผาแห่งนี้ นิพพานไปก่อนหน้าตถาคตมาถึง “หีบคัมภีร์คำสั่งสอนของตถาคต ๗ หีบ ก็มีอยู่ในถ้ำแห่งนี้ ท่านทั้งหลายจงนำเอาเกศาธาตุไปบรรจุที่นั้นเถิด” พระอรหันต์ พระอานนทเถระ และพระเจ้าอโศกราช ร่วมกับพระอินทร์ ก็อัญเชิญพระเกศาธาตุลงไปจากยอดเขานับแต่ยอดเขาลงไป  ๑๐๐ วา (บางฉบับว่า ๘๐๐ วา) ก็พบปากถ้ำ  เห็นโยคีรูปนั้นแล้วก็เข้าไปพบเจดีย์ทองคำ เห็นฆ้องทองคำที่โยคีสร้างไว้ ก็ขึ้นไปชั้นบนอันเป็นที่เก็บหีบพระคัมภีร์ไตรปิฎก ก็วางผอบพระเกศาธาตุไว้เหนือแท่นทองคำใกล้กับหีบพระไตรปิฎกนั้น

นับแต่ยอดเขาลงมาถึงปากถ้ำระยะทาง ๑๐๐ วา กับ ๑ ศอก มัชฌิมบุรุษ นับแต่ปากถ้ำเข้าถึงพระเกศาธาตุระยะทาง ๔๐๐ วา มัชฌิมบุรุษ ที่ประตูถ้ำนั้นมีไม้หกกอหนึ่ง เมื่อเวลาใบมันร่วง มันจะร่วงไปทางทิศตะวันออก ตั้งเทวดา ๘ องค์ ชื่อเทวดาทวารเฝ้ารักษาไว้ พระอินทร์ทรงเนรมิตยนตร์จักรผันป้องกันไว้ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก กับปล่องอากาศด้านบนของถ้ำจะต้องแม่นลึกแค่คอ ซึ่งแม่น้ำนั้นเกิดมีอยู่ในถ้ำที่นั้น เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วไปตามช่องถ้ำไกลประมาณ ๘๐๐ วา (บางฉบับว่า ๘,๐๐๐ วา จึงออกมาด้วยช่องอากาศของถ้ำ สร้างรูปยักษ์ ๒ ตนไว้ที่นั้น แล้วบรรจุทองคำไว้ในท้องยักษ์คนละหนึ่งแสนทองคำ ใช้แก้วปทัมราคเป็นดวงตาของยักษ์ทั้ง ๒ ตน ที่หน้าผากหุ้มด้วยแผ่นทองคำ มีมือถือพระขรรค์ ให้เฝ้ารักษาอยู่ซ้ายขวาของประตูถ้ำใส่ชื่อว่า ยักษ์ทวาร

เมื่อทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จึงพากันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ยอดภูเขา พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ท่านทั้งหลายไปกันเป็นอันนานยิ่ง” จึงกราบบังคมทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายไปสร้างแต่งแปลงรูปยักษ์ ๒ ตน อยู่ฝ่ายตะวันตก เหตุนี้จึงมากันช้า”  พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดีนักแล” แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสแก่พระพระมหาอานนท์ว่า “ดูรา อานนท์ บัดนี้ตถาคตมีอายุได้ ๖๐ ปีแล้ว เมื่ออายุตถาคตเต็ม ๘๐  ปีบริบูรณ์ ก็จะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ท่านจงเอาธาตุกระดูกหน้าผากด้านซ้ายมาประดิษฐานไว้ในดอยที่นี้ เพื่อเป็นที่ไหว้แก่คนและเทวดาทั้งหลาย เสมอดังตถาคตยังดำรงอายุอยู่

สถานที่อยู่ทางทิศตะวันออกนี้ ราบเรียบสม่ำเสมอดี ต่อไปเป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า “เมืองอตุลนคร” เมืองนี้จะเป็นที่อยู่แห่งคนและนักบวชผู้มีบุญเป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะเป็นที่ประชุมแห่งคนที่มีบุญทั้งหลาย จะเป็นผู้รักษาพระธาตุและหีบทองคำสำหรับใส่พระไตรปิฎก เมืองนี้จะรุ่งเรืองด้วยพระรัตนตรัยอุดมด้วยพระเถรานุเถระตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์เสมอกันทุกองค์เทวดาจะนำพระธาตุออกมาให้คนและเทวดาทั้งหลายได้สักการบูชา ตถาคตมีชีวิตอยู่เพื่อสมบัติสุข ๓ ประการ แก่คนทั้งหลายฉันใด ส่วนสารีริกธาตุกระดูกหน้าผากตถาคตฝ่ายซ้าย  ที่มาประดิษฐานอยู่ในดอยนี้ ก็จะนำความสุข ๓ ประการมาให้แก่คนและเทวดาทั้งหลายฉันนั้น”

พระมหาอานนทเถระก็กราบทูลถามว่า “ข้าแด่พระพุทธเจ้า ดอยลูกนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจ้าอันประเสริฐ ต่อไปภายหน้าดอยลูกนี้จะมีชื่อประการใด” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร อานนท์ เมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ ลัวะทั้งหลายเอาเกิ้ง (สัปทน) มากั้นให้เรา สถานที่นี้มีนิมิตเป็นไปกับด้วยเกิ้ง เช่นนี้ ต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่า “ดอยเกิ้ง” (พระธาตุดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่) สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสถิตสำราญอยู่ที่ยอดภูเขาที่นั้น ทรงแสดงธรรมเทศนาสั่งสอนลัวะทั้งหลาย มีขุนแสนทองเป็นต้น พวกเขาได้นำโภชนาหารมาถวายแก่พระพุทธองค์ทุกวัน

ส่วนว่าพระอัสสชิเถระ และพระอตุลเถระ ที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบาทผาน้อยเมืองลา อันมีในเมืองอาควี คือเมืองลี้ (แต่ตามเรื่องกล่าวว่า ท่านทั้งสองอยู่เมืองลี้) ท่านอยู่ปฏิบัติพระบาทผาน้อยเมืองลานั้น ท่านจำเริญภาวนาจนสำเร็จพระอรหัตตผล แล้วจึงปรึกษากันว่า “ดูราอาวุโส พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาสั่งเราว่า เมื่อเราทั้งสองจำเริญภาวนาสำเร็จมรรคสำเร็จผลแล้ว จงไปตามหาตถาคตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โน้นเถิด” (เรื่องตอนที่เกี่ยวกับเมืองลี้ว่า ทิศตะวันตกตรง)

บัดนี้เราทั้งสองสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เราทั้งสองควรติดตามไปเฝ้าพระพุทธองค์เถิด เมื่อปรึกษากันแล้ว ก็ชวนกันเหาะมาทางอากาศติดตามหาพระพุทธองค์ จึงมาพบพระพุทธองค์ที่ดอยเกิ้งนั้น เมื่อทั้งสองถวายอภิวาทแล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า “ท่านทั้งสองมาโดยด่วนแท้หนอ” พระเถระทั้งสองก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระพุทธองค์ข้าพระองค์มาโดยด่วน เพื่อจะมาอภิวาทพระพุทธองค์ ด้วยว่าข้าพระองค์ทั้งคู่ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จึงมาอภิวาทพระพุทธองค์แล”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดีแล ท่านทั้งสองจงชวนกันกลับไปอยู่รักษาพระบาทผาน้อยที่นั้น ก็เท่ากับได้อยู่อุปัฏฐากตถาคตทุกวันแล” พระเถระทั้งสองรูปนั้นก็รับสนองพระพุทโธวาทว่า “สาธุ ดีแล” แล้วก็ถวายอำลาพระพุทธเจ้ากลับไปสู่ผาน้อยอันเป็นที่อยู่ของตน อุปัฏฐากพระพุทธบาทที่นั้นได้นาน ๓ วัน ก็ถึงแก่นิพพานไปในวันเดียวกันทั้งสององค์

คนและเทวดาทั้งหลายก็มาส่งสักการฌาปนกิจพระเถระทั้งสอง แต่ไฟหาได้ไหม้แม้ร่างของท่านไป พระอินทร์ที่มากับด้วยพระพุทธเจ้าในเวลานั้นท่านขึ้นไปชั้นฟ้า ประทับนั่งบนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ก็รู้สึกเร่าร้อนและแข็งกระด้าง จึงเล็งทิพยเนตรดู ก็รู้ว่าท่านอัสสชิเถระและท่านอตุลเถระนิพพานไปแล้ว คนทั้งหลายมาพร้อมกันฌาปนกิจแต่ไฟหาไหม้สรีระร่างของท่านไม่ พระอินทร์จึงเหาะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าที่เชิงดอยเกิ้งที่นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร มหาราช การที่จะฌาปนกิจพระทั้งสองรูปนั้น ในกาลบัดนี้ไฟไม่ไหม้หรอก ทั้งสองรูปนั้นรอพระศรีอริยเมตไตรมาฌาปนกิจ ในกาลต่อไปภายหน้าเท่านั้น”

พระอินทร์ทรงสดับพุทธดำรัสเช่นนั้นก็ไปเนรมิตโลงหินกับเตียงหิน ๒ ชุด เพื่อบรรจุสรีระแห่งพระอัสสชิเถระและพระอตุลเถระแล้วนำไปไว้ในถ้ำท้องภูเขาที่นั้นเพื่อรอพระอริยเมตไตรเจ้า เมื่อพระอริยเมตไตรเจ้าเสด็จอุบัติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะทรงฌาปนกิจศพท่านทั้งสองตามวิบากกรรมของท่านแล

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายที่นิพพานไปแล้ว แต่สรีระร่างยังไม่เน่าเปื่อยมีอยู่ ๔ องค์ คือ พระมหากัสสปเถระ นิพพานแล้วสรีระร่างกายของท่านยังอยู่ในระหว่างภูเขา ๓ ลูก ที่สุมกันอยู่ในเมืองราชคฤห์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอังวะ ๑.พระจุฬกัสสปเถระ นิพพานในระหว่างภูเขาเมืองมิถิลา คือเมืองหนองแสในบัดนี้ ๑.พระอัสสชิเถระ, พระอตุลเถระ ๑ ทั้งสองรูปหลังนี้ นิพพานที่พระบาทผาน้อยเมืองลา ในแคว้นเมืองฮ่อ แล้วเอาใส่โลงหินไว้ เมื่อพระอินทร์ทรงพิจารณาหาที่รักษาสรีระร่างกายของมหาเถระเจ้าทั้งสองในถ้ำพระบาทที่ดอยเกิ้งแคว้นเมืองเชียงใหม่ ที่นั้น ก็มีแลฯ 

นโม ตสฺสตฺถูฯ ตตฺถ สตฺตาเห ภควา วิหริตฺวา ตโต ภควา คนฺตฺวา อญฺญต รสฺมี สมปต ดูกรสัปปุรุษทั้งหลาย พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ดอยเกิ้งที่นั้น นานได้ ๗ วัน ก็เสด็จลงจากยอดภูเขาลูกนั้น ทรงดำเนินไปตามราวป่าแห่งหนึ่ง เสด็จลงสู่แม่น้ำระมิงค์ แล้วเสด็จเลียบโลกไปตามฝั่งแม่น้ำขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ ๑๐,๐๐๐ วา ทรงพบลัวะคนหนึ่ง กำลังสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปรังอยู่ (ศัพท์นาปลังคือ นาดอ, นาเจียง) ลัวะผู้นั้นพบเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ก็รีบแก้ผ้าโพกศีรษะออกมาเช็ดพระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วกลับเอาโพกหัวตามเดิม เมื่อผ้าเช็ดพระบาทแล้ว ผ้าผืนนั้นก็กลายเป็นทองคำไปทั้งผืน ก็บังเกิดความยินดียิ่ง จึงกราบทูลอาราธนาว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขออาราธนานิมนต์ประทับอยู่โปรดเมตตาข้าพระองค์ในที่นี้ก่อนเถิด” พระพุทธเจ้าก็เสด็จประทับเหนือภูเขาลูกหนึ่ง มีอยู่ทิศตะวันตกบ้านลัวะที่นั้น (ดอยอูปธาตุ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่)

ส่วนลัวะผู้นั้น ก็รีบวิ่งไปหุงข้าวทำอาหารอย่างละ ๒ หม้อ คือข้าว ๒ หม้อ แกง ๒ หม้อ ในบัดดลนั้นข้าวและแกงอย่างละ ๒ หม้อนั้น ก็กลับกลายเป็นข้าวทิพย์และแกงทิพย์ นำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์เสวยแล้ว ข้าวและแกงก็เหลือแม้ถวายแก่พระอรหันต์ทั้งหลายก็เหลือ เมื่อพระพุทธองค์เสวยและพระอรหันต์ทั้งหลายฉันแล้ว พระเจ้าอโศกราชจึงตรัสแก่ลัวะผู้นั้นว่า “ดูรา ขุนหลวง ท่านมาสร้างระหัดพัดน้ำขึ้นใส่นาปลังนั้น ไม่ต้องทำให้ลำบากใจเลย ท่านจงสมาทานเอาศีลจากพระพุทธเจ้าเถิด ข้าวของสมบัติที่ท่านจะกินจะบริโภค จะต้องเกิดมีอย่างมากมายเป็นแน่แท้”  ลัวะผู้นั้นก็เข้ามากราบสมาทานเบญจศีลจากพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก็ทรงประทานเบญจศีลให้ เมื่อลัวะผู้นั้นรับเบญจศีลแล้ว ก็กราบอำลาคืนสู่เรือนตนเมื่อถึงเรือนแล้ว ก็เห็นสิ่งของทุกสิ่งในเรือนกลับกลายเป็นทองคำไปสิ้น จึงรำพึงว่า “แต่ก่อนเราทำนาเกือบตายยังไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง วันนี้เรารับศีลจากพระพุทธเจ้า แล้วกลับจากเรือน สิ่งของอันใดก็กลายเป็นทองคำไปสิ้น ศีลของพระพุทธเจ้านี้ประเสริฐแม้ เราจะรักษาตลอดชีวิตของเราแล”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากทรงให้ศีลแก่ลัวะผู้นั้นแล จึงตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งหลายว่า “ดูราภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ พบลัวะกำลังทำระหัดพัดน้ำขึ้นใส่น้ำ เมื่อถามแล้ว ลัวะก็ตอบว่า “สถานที่นี้แห้งหอดด้วยน้ำใช้ทำนา จึงต้องทำระหัดพัดน้ำใส่นา” ต่อไปภายหน้าเมืองนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองหอดน้ำ” (หอด แปลว่า แห้งแล้ง, โหยหิว ปัจจุบันนี้เป็นอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์จบแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายและพระเจ้าอโศกราชจึงกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี้ดียิ่ง สมควรตั้งพระศาสนาไว้แห่งหนึ่ง ขอพระองค์ทรงมีพระเมตตาไว้พระเกศาธาตุเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูราภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำช่องเขา ไม่สมควรจะไว้ธาตุ” แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จลุกจากที่นั้นเสด็จไปตามฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปทางทิศเหนือไกลประมาณ ๑,๐๐๐ วา ก็ทรงพบหินก้อนหนึ่งรูปร่างเหมือนเต่า พระพุทธองค์ก็ทรงประทับนั่งเหนือก้อนหินก้อนนั้น ในกาลนั้น มีพญานาคตนหนึ่งออกจากที่อยู่แห่งตน เข้ามาอภิวาทพระพุทธเจ้า

เมื่อนั้นพระอรหันต์ พระเจ้าอโศกราชและพญานาค ก็ช่วยกันกราบทูลว่า “ข้าแด่พระพุทธองค์ผู้เจริญ ฐานะที่นี่ควรตั้งศาสนาไว้พระธาตุแท้แล” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ฐานะที่นี้ไม่มีถ้ำ ไม่ควรไว้ธาตุ” จึงกราบทูลต่อไปว่า “แม้นว่าพระองค์ไม่ทรงไว้พระธาตุในสถานที่นี้ ขอทรงพระกรุณาไว้รอยพระบาทเถิด” เมื่อกราบทูลแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือก้อนก้อนนั้น มีรอยลึกประมาณสี่นิ้วมือขวาง (ฝ่ามือตะแคง) ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย แล (รอยพระพุทธบาทเกือกแก้วรังรุ้ง บ.แม่ป่าไผ่ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด)

วัดพระธาตุดอยเกิ้ง

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top