ภูมิปัญญาสาขาการเกษตร

ประชากรในอำเภอดอยเต่าส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกร  ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นหลัก   ถึงแม้ว่าวิถีในดำเนินชีวิตได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการไปตามยุคสมัยและค่านิยมไปบ้าง     แต่ก็ยังคงเป็นอาชีพเกษตรกรรมเหมือนเดิม  ซึ่งสามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาได้  ๓ ระยะดังนี้

ระยะที่   ๑  การทำเกษตรแบบดั้งเดิม (ก่อน  พ.ศ.  ๒๕๑๙ )   

ยุคสมัยนี้อำเภอดอยเต่ายังไม่มีการชลประทาน  ไม่มีอ่างเก็บน้ำ  และคลองส่งน้ำเหมือนใน

ปัจจุบัน  เกษตรกรส่วนมากทำการเกษตรแบบดั้งเดิม  หมายถึง  ทำการเกษตรแบบอยู่พอกิน  พึ่งพาอาศัยฝนฟ้าตามฤดูกาล  ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี   ยาฆ่าแมลง หรือยาปราบวัชพืชใด ๆ ทั้งสิ้น  อาศัยแรงคนในการทำงานเป็นหลัก   อย่างมากได้อาศัยแรงวัว  แรงควาย  ในการไถนา  และลากเกวียนเท่านั้น 

                การเกษตรในยุคนี้เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน  มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์  ไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนและแบ่งปันเพื่อนบ้าน  ทำการเกษตรเพื่อให้พออยู่พอกิน  ไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจค้าขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

 เครื่องไม้เครื่องมือในการทำเกษตรสมัยนี้มีไม่มาก  เช่น  จอบ(ขอบก)  เสียม   มีด   ขวาน (มุย)  เลื่อย  เคียว   แอก   ไถ   คราด (เผือ)   เกวียน(ล้อ)  เชือก (ใช้เปลือกไม้ปอฟั่นเป็นเกลียว) 

ระยะที่  ๒  การทำเกษตรสมัยพัฒนา   (พ.ศ.  ๒๕๑๙  –  ๒๕๕๐)

หลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตูบในโครงการตามพระราชดำริ  มีการปล่อยน้ำลงคลองชลประทานส่งไปตามพื้นที่ทำกินของเกษตรกร  การเกษตรกรรมจึงได้ปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เป็นเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยวมากขึ้น  มีการทำสวนลำไย  ปลูกหอม  กระเทียม  ปลูกถั่วเหลือง  มีการเจาะน้ำบาดาล  ใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำขึ้นมาทำการเกษตร  มีการใช้เครื่องทุ่นแรง  แทนแรงงานคนและสัตว์  เช่น  รถไถ  เครื่องสูบน้ำ  ควายเหล็ก  เครื่องสีข้าว  เครื่องโม่ถั่ว  เครื่องนวดข้าว  เครื่องไม้เครื่องมือในยุคก่อน ๆ  จึงได้เลิกใช้ไปโดยปริยาย  คนรุ่นหลัง ๆ หาดูไม่ได้เลย  เช่น  ไถนาโดยใช้แรงควาย  ลากเกวียนโดยใช้วัวเทียมเกวียน 

การเกษตรกรรมในยุคนี้ ถูกระบบทุนนิยมเข้าครอบงำ  เกษตรกรสามารถเข้าระบบสินเชื่อกู้เงินลงทุนได้  เปลี่ยนจากการเกษตรเพื่อพออยู่พอกิน เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่มุ่งผลผลิตมาก ๆ เพื่อสร้างฐานะทางครอบครัวและเพื่อการปลดหนี้สิน  การเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ย  ใช้ยาฆ่าแมลง  ยาปราบศัตรูพืช  ปราบวัชพืช  ยาคุมวัชพืช  ฮอร์โมน  ยาเร่งดอกเร่งผล  ฯลฯ   ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ  มาช่วย  ต้องกู้หนี้ยืมสินทั้งในระบบและนอกระบบมาจับจ่ายใช้สอย  ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ มีการแข่งขันในการทำมาหากิน  วิถีชีวิตที่เรียบง่าย สบาย ๆ เหมือนเกษตรกรในยุคก่อนๆ  จึงต้องเปลี่ยนเป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรน แข่งขัน ร้อนรุ่มกลุ่มใจ  เต็มไปด้วยหนี้สินล้นพ้นตัว

ระยะที่  ๓ ในยุคปัจจุบัน  (๒๕๕๐  เป็นต้นมา)

ปัจจุบันนี้ เกษตรกรในอำเภอดอยเต่าส่วนหนึ่ง  ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ  ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง  ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ   ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี  มีปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง  จึงหันมาศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่หรือไร่นาสวนผสม   น้อมนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมาใช้ในการเกษตร  โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินจากอำเภอฮอด   ให้เกษตรกรในอำเภอดอยเต่าทุกหมู่บ้านได้รวมกลุ่มกัน  เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก  น้ำหมักชีวภาพ  การปรับปรุงบำรุงดิน  โดยให้มีหมอดินประจำหมู่บ้าน  และประจำตำบล ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกลุ่มทำปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านไร่ 

Share this post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

scroll to top